TOP

ความเสี่ยงที่สุด ที่มนุษยชาติต้องพบเจอ

ในบรรดาความเสี่ยงมากมายที่สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “climate change” นับเป็นความเสี่ยงที่ถูกประเมินไว้สูงสุด ทั้งในแง่ของ “โอกาสที่จะเกิด” และ “ความรุนแรงของผลกระทบ” รายงาน Global Risks Report ของ World Economic Forum พบว่า climate change เป็นความเสี่ยงที่ติด 5 อันดับแรก ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2553

 

รายงาน IPCC Climate Change Report ปี 2564 ขององค์การสหประชาชาติ ได้ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่าในตอนนี้โลกร้อนขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นจุดวิกฤต ที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากการกระทำของพวกเรา – มนุษย์ – เป็นสำคัญ

ภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ความอดอยาก การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของหลายสายพันธุ์ และการล่มสลายของบางอารยธรรม เหล่านี้คือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ในความกังวลยังมีความหวังอยู่บ้างคือ วิกฤตครั้งนี้ยังมีโอกาสแก้ไข หากเลือกใช้นโยบายที่ถูกต้อง!!

 

การพัฒนาอย่างยั่งยืน : ความหวังและข้อจำกัด

ท่ามกลางความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดยกว้าง การพัฒนาอย่างยั่งยืนหมายถึง การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรในรูปตัวเงินในระยะสั้น ภายใต้หลักการนี้เหล่าบรรดานักคิด นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย ต่างพัฒนาความรู้และเครื่องมือเชิงนโยบายใหม่ๆ มารับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จำนวน 17 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหมุดหมายสำคัญ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา climate change เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความตกลงปารีส มีเป้าหมายรูปธรรมสำคัญร่วมกันคือ การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หลายประเทศได้แสดงจุดยืนร่วมกันไว้ว่า จะปฏิบัติตามเป้าหมายนี้อย่างเคร่งครัด และได้ออกมาประกาศแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในช่วงศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการกำหนดเป้าหมายที่เข้มข้นขึ้นดังกล่าว จะยังไม่ปรากฏเป็นผลในทางปฏิบัติที่จะทำให้โลกร้อนขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียสได้

 

การเงินเพื่อความยั่งยืน : เครื่องมือเสริมพลังการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หากเทียบกับภาคเศรษฐกิจจริง (real sectors) ภาคการเงินดูจะไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะโดยธรรมชาติ ภาคการเงินไม่ได้ใช้ทรัพยากรใดๆ มากอยู่แล้ว การเรียกร้องให้ภาคการเงินใช้ทรัพยากรอย่าง “คุ้มค่าและยั่งยืน” แบบภาคเศรษฐกิจจริง จึงอาจเป็นการเรียกร้องที่ผิดฝาผิดตัว และแทบไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อการลดปัญหาโลกร้อน กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าภาคการเงินไม่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเลย อันที่จริง “การเงินเพื่อความยั่งยืน” กลับมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะศักยภาพที่แท้จริงของภาคการเงิน คือการเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าเศรษฐกิจควรดำเนินไปในทิศทางใด ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้เลย หากภาคการเงินไม่มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเงินทุน ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในระดับสากล กลุ่มผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงิน ได้พัฒนาความร่วมมือและการสนับสนุนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้อย่างน่าสนใจ โดยอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

(1) การจัดตั้งองค์กรใหม่ที่ขับเคลื่อนการเงินอย่างยั่งยืนเป็นการเฉพาะ องค์กรที่โดดเด่นคือ Network for Greening the Financial System (NGFS) โดยเครือข่ายธนาคารกลาง และผู้กำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลกในปี 2560 NGFS มีเป้าหมายในการร่วมกันสร้างระบบการเงิน ให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านโลกร้อน และเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของความตกลงปารีส ปัจจุบัน NGFS มีสมาชิกร่วมกว่า 83 องค์กร โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี 2562 และได้หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกทั่วโลก เพื่อผลักดันการลดความเสี่ยงด้านโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง

(2) ความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลภาคการเงิน โดยเพิ่มบทบาทในการดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้ออกแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก สำหรับแก้ไขปัญหาโลกร้อนเมื่อกลางปี 2564 รวมถึงการผนวกความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าในกระบวนการติดตามและประเมินระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่างๆ อาทิ โครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program – FSAP) ด้วย นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ได้จัดตั้ง Green Bond Fund มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2562 – 2564 เพื่อสนับสนุนธนาคารกลางทั่วโลก ให้นำเงินไปลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ Basel Committee on Banking Supervision ที่อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการผนวกเรื่องความเสี่ยง ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในการประเมินความเสี่ยงทางการเงิน

(3) ความร่วมมือของภาคเอกชน เช่น asset managers ทั่วโลกต่างมุ่งสู่ net zero initiatives หรือการเลือกลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยล่าสุดมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั่วโลก

 

ประเทศไทยบนเส้นทางการเงินเพื่อความยั่งยืน

ภาคการเงินไทย กำลังเดินอยู่บนเส้นทางความยั่งยืนอย่างน่าสนใจ เราได้เห็นการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการออก ESG bond (ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน) ขยายตัวเกือบปีละ 2 เท่า จากประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เป็น 8 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการออกไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ถือเป็นผู้ออกรายใหญ่ นับเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญในการสร้างสภาพคล่องให้แก่ตลาดพันธบัตร และสนับสนุนการระดมทุนอย่างยั่งยืนของประเทศ

อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย คือ การก่อตั้ง “คณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance)” โดยหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงิน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ธปท. ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทย

 

และเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ได้ออกแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ซึ่งได้ระบุแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

1. การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการ หรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน (taxonomy)
2. การเปิดเผยข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมสังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social, governance: ESG) ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
3. การสร้างมาตรการจูงใจ (incentives) เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน
4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้เล่นในภาคการเงิน สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน
5. การสร้างทรัพยากรบุคคลในภาคการเงินที่มีคุณภาพ และมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

 

ธปท. กับการสร้างระบบนิเวศ ให้ภาคการเงินไทยเติบโตยั่งยืน

สำหรับภาค ธนาคาร ธปท. สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ผนวกประเด็น ESG ในทุกกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้ให้ธนาคารพาณิชย์ทำแบบประเมินตนเอง (self – assessment framework) เพื่อประเมินความคืบหน้าการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน ในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ซึ่งได้ลงนามไปในปี 2562 ผลจากการประเมินจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับนโยบายและกระบวนการในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการ ESG ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงพิจารณาการดำรงเงินกองทุนในส่วน Pillar 210 ให้ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินด้วย

 

นอกจากการดำเนินการภายในของแต่ละธนาคารแล้ว ธปท. มุ่งหวังให้หลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เป็นโครงสร้างสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งสามารถปฏิบัติได้ จึงอยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (good practices) เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

ในระยะต่อไป ธปท. และหน่วยงานในภาคการเงินมีแนวทางที่จะสร้างระบบนิเวศ ที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลดผลกระทบที่จะเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี “game changer” สำคัญคือการพัฒนามาตรฐานและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินเห็นโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าว ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

 

ปัจจุบันภาคการเงินอยู่ระหว่างการพัฒนา 2 เรื่องสำคัญ คือ (1) taxonomy เพื่อทำให้ภาคการเงินสามารถจัดสรรเงินทุนไปลงทุนในโครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (2) การเปิดเผยข้อมูล (financial disclosure) ของภาคการเงิน โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ การประเมิน และบริหารความเสี่ยง รวมถึงการมีตัวชี้วัด และเป้าหมายในการดำเนินการที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความโปร่งใส และสื่อสารกับสาธารณชนได้ดียิ่งขึ้น

 

นอกจากการทำงานใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการเงินแล้ว ธปท. ได้มีการหารือกับภาครัฐ นักวิชาการ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อบูรณาการการพัฒนาแนวปฏิบัติ รวมถึงเครื่องมือเชิงนโยบายที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ อาทิ กลไกตลาดที่จะช่วยสะท้อนต้นทุนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม (negative externalities) การสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เครื่องมือและมาตรการเชิงนโยบายเหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนในอนาคต ได้รวดเร็วและราบรื่นมากยิ่งขึ้น

 

ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงติด 1 ใน 10 ของโลก ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างภัยธรรมชาติที่กระทบภาคเกษตร และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ที่ส่งผลต่อพื้นที่อยู่อาศัยและการทำอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกด้วย เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนต่อสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ การปรับตัวและเดินหน้าไปสู่นโยบายการเงินเพื่อความยั่งยืนจึงมีความสำคัญ เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ ต้นทุนต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจโลก และสังคมเศรษฐกิจไทยก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น

 

——————————————————————————

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE

ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับกันยายน – ตุลาคม 2564

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด