TOP

เบื้องหลังความพร้อม โรงพยาบาลสนามกว่า 500 เตียง ณ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

จากสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อนที่เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระจายไปทั่วประเทศไทย จนตรวจพบผู้ติดเชื้อใน 57 จังหวัด รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ระลอกใหม่ ที่มีจำนวนพุ่งทะลุกว่า 900 ราย และเนื่องจากกรุงเทพฯ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาครในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ พื้นที่เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม และเขตบางพลัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทำให้ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงมีความจำเป็นต้องสำรองโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19

และนี่คือเบื้องหลังการเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร โดย นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการดำเนินการในเรื่องนี้ว่า “จากการตรวจพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ กทม. ได้ดำเนินการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อ จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล เพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าว โดยเป็นการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ไปยังชุมชนในพื้นที่ กทม. จึงจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อเป็นที่พักสำหรับสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย”

 

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ศักยภาพเต็มร้อย สำหรับเป็นโรงพยาบาลสนาม

 

“เนื่องจากโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลของ กทม. ที่เปิดใหม่ได้ประมาณสองปี โดยศักยภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นอาคารที่สามารถรองรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้ เราจึงกำหนดให้ที่นี่เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภารกิจครั้งนี้ แต่ในระยะแรกต้องทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในส่วนของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน หลังจากได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องการเตรียมความพร้อม จะเห็นเลยว่า ที่นี่มีความพร้อมสำหรับจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามมากทีเดียว มีการแยกโซน แยกส่วน ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ และคัดกรองในทุกส่วนทุกโซนพื้นที่” ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าว

 

โรงพยาบาลสนามของ กทม. ที่พร้อมรองรับผู้ป่วยกว่า 500 เตียง

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลสนามที่มีระบบการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น พร้อมกับระบบการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดสู่บุคคลภายนอกและชุมชน อีกทั้งมีระบบการส่งต่อกรณีอาการเปลี่ยนแปลงหรือการรักษาฉุกเฉิน จึงต้องใช้อาคารเป็นพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วย 2 ส่วน สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 509 เตียง

“สำหรับพื้นที่ 2 ส่วน ที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้แก่ พื้นที่บริเวณเรือนกลางน้ำ ซึ่งมีอยู่จำนวน 7 หลัง หลังละ 4 ห้อง สามารถพักได้ห้องละ 2 คน รวมรองรับผู้ป่วยได้ 56 คน โดยระเบียงของทุกห้องหันออกกลางน้ำ และห่างจากชุมชนมากกว่า 8 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี แสงแดดส่องถึง ปิดระบบระบายอากาศ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล ในส่วนของเจ้าหน้าที่มีเคาน์เตอร์พยาบาลอยู่กลางเรือนผู้ป่วย ที่ภายในเป็นระบบเครื่องปรับอากาศแยกส่วน จัดให้มีจุดอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าหลังให้การดูแลผู้ป่วยก่อนเข้าโซนสะอาด ในอีกส่วนที่รองรับเป็นโรงพยาบาลสนาม คืออาคารผู้ป่วยใน (อาคารกลางน้ำ) ชั้น 2 – 6 พื้นที่ในอาคารบริเวณนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 453 คน ในแต่ละชั้นจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ด้านห้องเดี่ยว จัดเป็นห้องพัก 2 เตียง ตั้งห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร มีห้องน้ำในตัว ส่วนด้านห้องรวม มีลักษณะเป็นส่วนๆ จัดเตียงพัก 6 เตียง ด้านหน้าอีก 1 เตียง ทุกเตียงห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร เช่นกัน มีห้องน้ำรวมจำนวน 10 ห้อง ห้องอาบน้ำ 6 ห้อง ซึ่งช่องทางเข้า – ออก และลิฟต์โดยสารของผู้ป่วยแยกโซนกับของเจ้าหน้าที่”

นอกจากนี้ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ยังได้เล่าถึงระบบการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ของเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลด้วยว่า “พื้นที่โรงพยาบาลสนามทั้งสองส่วนนี้ มีห้องพัก ห้องทำงาน ห้องอาหาร และห้องประชุมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจัดให้เข้า – ออกทางเดียว และจัดให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต (WiFi) ครอบคลุมพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวก และใช้ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ มีกล้องวงจรปิด CCTV ในบริเวณเส้นทางเดินเพื่อดูแลเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้จัดเส้นทางเข้า – ออก แยกจากผู้ป่วยทั่วไปด้วย”

 

กทม. มั่นใจความปลอดภัยของโรงพยาบาลสนาม

ต่อชุมชนใกล้เคียง

 

“ขอให้ประชาชนและชาวชุมชนใกล้เคียงโรงพยาบาลสนาม (โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน) มั่นใจได้ว่า ที่นี่มีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากเรามีระบบควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน อาทิ การกำจัดมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ขยะในห้องผู้ป่วยทั้งหมดให้ถือเป็นขยะติดเชื้อ โดยขยะของผู้ป่วยจะถูกทิ้งลงในถุงขยะ 2 ชั้น ปิดอย่างแน่นหนา ใช้ผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดเช็ดที่ด้านนอกของถุงขยะ และนำใส่ถังพักขยะติดเชื้อที่มีฝาปิดมิดชิดภายในอาคาร จากนั้นนำมาทิ้งที่ห้องพักขยะที่เป็นระบบปิดด้านนอกอาคาร ซึ่งเปิดตามเวลาที่บริษัทรับกำจัดขยะติดเชื้อของ กทม. มาเก็บขนขยะเพื่อนำไปกำจัดตามแนวทางการกำจัดขยะติดเชื้อเท่านั้น (อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง)”

ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “กทม. มีการตัดระบบน้ำทิ้งโสโครกออกจากระบบระบายน้ำทิ้งเดิม และนำน้ำเสียดังกล่าวมาบำบัดในบ่อใหม่ ที่มีการเติมคลอรีนเข้มข้นพิเศษ ก่อนปล่อยออกจากระบบระบายน้ำของโรงพยาบาล ส่วนอีกระบบที่ต้องพูดถึง คือระบบระบายอากาศ พื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยเป็นระบบกึ่งปิด ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความดันเป็นลบ มีการระบายอากาศโดยปล่อยลมออกในที่สูงไม่น้อยกว่า 8 เมตร โดยกำหนดทิศทางระบายลมออกห่างจากบ้านเรือนหรือชุมชน อย่างน้อย 8 เมตร และตำแหน่งในทิศทางของลมไม่พัดย้อนกลับไปยังชุมชน อีกส่วนคือระบบรักษาความปลอดภัย โรงพยาบาลสนามเป็นอาคารที่มีความแข็งแรง มีทางเข้า – ออกทางเดียวและเป็นระบบปิด มีประตูล็อกหลายชั้น มีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ภายในอาคาร มีระบบยามรักษาความปลอดภัย สามารถป้องกันผู้ป่วยหนีออกจากโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง”

นับเป็นภารกิจที่ กทม. ได้เตรียมพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร รวมทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงทุกด้าน เพื่อให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า จะได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงสุด แต่ทั้งนี้ กทม. ขอความร่วมมือประชาชน หากป่วยมีไข้ มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อย่าปกปิดข้อมูลหรือประวัติเสี่ยง เพื่อทีมแพทย์จะได้วินิจฉัยรักษา และเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที

——————————

เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย

ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 276 ( 3/ 2564)

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด