TOP

ปลุกกระแสปลูกต้นไม้ สู่เป้าหมาย…มหานครสีเขียว

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา เกิดเป็นยุค Work from Home ที่คนจำนวนมากทำงานจากที่บ้าน และเมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้นก็ทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ ที่บ้านมากมาย รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ที่กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมอันดับต้นๆ และแม้พ้นช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว กระแสปลูกต้นไม้ยังแรงดีไม่มีตก และในฐานะหัวหอกสำคัญของ โครงการ ‘GREEN BANGKOK 2030…มหานครสีเขียว’ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ธรรมชาติให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดมลพิษให้ทั่วกรุงเทพฯ ก่อนปี 2030 (พ.ศ. 2573) 

จากกระแสปลูกต้นไม้นี้ ได้เห็นมิติความต้องการพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ที่แม้เป็นพื้นที่เล็กๆ ก็สามารถสร้างความสุขในวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญของ กทม. จึงต้องรีบตีเหล็กขณะที่ยังร้อน ด้วยการเร่งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ มีวิถีใกล้ชิดธรรมชาติ พร้อมไปกับการพัฒนาและให้บริการสวนสาธารณะ รวมถึงผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาพื้นที่สีเขียว สร้างองค์ความรู้ที่ให้ความสำคัญในพื้นที่สีเขียวของเมือง

 

หลังจาก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเจตนารมณ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ว่า จะทำให้กรุงเทพฯ เป็น ‘มหานครสีเขียว’ ภายในปี 2030 (GREEN BANGKOK 2030) กทม. ก็ได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณ 7.1 ตารางเมตรต่อคน โดยกำลังดำเนินการตามแผนปฏิบัติที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นกำหนดโครงการสำหรับโครงการ GREEN BANGKOK ไว้ 11 โครงการ โดยในปีนี้ที่ดำเนินการเสร็จไปแล้ว ได้แก่ สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ สวนสันติพร เขตพระนคร (กองสลากเก่า) และสวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร เขตลาดกระบัง ส่วนอีก 8 โครงการ ‘สร้างปอดให้คนเมือง’ ที่เหลือนั้น คาดว่าแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2564 

สำหรับระดับมหภาค หน้าที่ของ กทม. คือการขับเคลื่อนสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์ที่เพิ่มขึ้น อาทิ ริมคลอง ริมถนน หรือแม้กระทั่งเกาะกลางถนนก็มีต้นไม้เติบโตให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ สิ่งต่อมาคือการเปลี่ยนที่รกร้างหรือที่ดินว่างเปล่าให้กลับกลายเป็นสวนสาธารณะ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเพื่อสร้างเมืองสีเขียว ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ จึงอยากขอความร่วมมือให้ทุกคน มาช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้าน ย่าน และเมืองให้มากขึ้น สร้างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

 

กทม. สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสม กับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ มีวิถีใกล้ชิดธรรมชาติ พร้อมไปกับการพัฒนาและให้บริการสวนสาธารณะ รวมถึงผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาพื้นที่สีเขียว

 

———————————————————–

เรื่อง: อโนชา ทองชัย

ที่มา: BANGKOK NEWS Issue 274 | January2021

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด