TOP

ฉลองปีใหม่แบบ…สุขภาพไม่พัง!

เทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนต่างรอคอย หลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันมานานนับปี ต่างต้องการปลดปล่อยเฉลิมฉลอง สังสรรค์ ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง จนไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์สุขภาพที่จะตามมา หลังจากงานเลี้ยงสุดฟินผ่านพ้นไป หลายคนอาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ อย่าง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ยิ่งถ้าดื่มหนักติดต่อกันหลายวันและพักผ่อนน้อย จำเป็นต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะหากไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับปาร์ตี้ปีใหม่ ช่วงเทศกาลหยุดยาว อาจเสี่ยงทำให้โรคกำเริบรุนแรงได้

 

อะราวด์นำวิธีการเตรียมความพร้อมก่อนงานปาร์ตี้จาก นพ. ตุลย์ สุนาถวนิชย์กุล สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช มาฝาก

 

เตรียมความพร้อม ก่อนงานปาร์ตี้ปีใหม่

  • ไม่ควรอดอาหารก่อนไปงานปาร์ตี้  เพราะนอกจากจะยิ่งทำให้หิวมากขึ้น จนลืมตัวรับประทานอาหารมากเกินไป สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือหน้ามืดเป็นลมได้ แนะนำให้รับประทานอาหารรองท้องเล็กน้อยก่อนไปงานปาร์ตี้ โดยเลือกรับประทานผลไม้ไม่หวานจัด เช่น แอปเปิล หรือ ฝรั่ง 1 ผล สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการรับประทานอาหารล่วงหน้าไปบ้างจะช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป
  • ดื่มน้ำเปล่า น้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาล ก่อนไปปาร์ตี้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ จนต้องมองหาเครื่องดื่มในงานเลี้ยงที่มักเป็นน้ำหวานและแอลกอฮอล์
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่คับแน่นจนหายใจไม่ออก นอกจากนี้การใส่ชุดพอดีตัว ยังจะช่วยประเมินว่าคุณรับประทานอาหารในงานมากเกินไปหรือไม่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้มีต้นทุนสุขภาพที่ดีกว่าจากร่างกายที่มีความพร้อมในการตั้งรับที่มากกว่า ก่อนต้องไปปาร์ตี้ดึกดื่นที่ติดต่อกันหลายวันในช่วงเทศกาล
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาหลังอาหารหรือยาอื่นๆ ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย
  • ตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ก็ควรพกยาติดตัวไปด้วย ส่วนผู้ป่วยเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์เพื่อควบคุมโรคให้คงที่ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

การควบคุมตัวเองระหว่าง ปาร์ตี้ปีใหม่

  • ไม่จำเป็นต้องลองอาหารทุกอย่าง เพราะแม้จะบอกตัวเองว่ารับประทานอย่างละนิดละหน่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารเพียงคำสองคำแต่หลายชนิด เมื่อรวมกันแล้วอาจมากกว่าการรับประทานอาหารจานหลัก 1 จานเสียอีก
  • เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แม้จะเป็นเรื่องยากเช่น สลัดน้ำใส ถั่วคั่วไม่ใส่เกลือ แทนอาหารไขมันเยิ้มอย่าง ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย พิซซ่า
  • ดื่มน้ำเปล่า แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะการปาร์ตี้ก็ต้องมีแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นพระเอก การมีสติรู้ขณะปาร์ตี้และสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป และให้ดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ จะช่วยเจือจางดีกรีของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด
  • ตักอาหารให้พอดี ไม่ต้องเผื่อใคร เนื่องจากพอต่างคนต่างเผื่อ เมื่อตักอาหารมาแล้วก็ต้องรับประทานให้หมด ซึ่งอาจทำให้ต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป
  • เคี้ยวอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้อาหารย่อยง่ายขึ้น
  • ถามตัวเองทุกครั้งก่อนตักอาหารเพิ่มว่าอิ่มหรือยัง เพราะปกติสมองจะสั่งการว่าอิ่มแล้วหลังจากรับประทานอาหารไปประมาณ 20 นาที
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด
  • สำหรับผู้ป่วยโรคประจำตัว อย่าอายที่จะปฏิเสธหรือบอกถึงข้อจำกัดของโรค เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด จนหมดสนุกหากไม่สามารถรับประทานอาหารบางชนิดหรือร่วมกิจกรรมบางประเภทได้ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทมากเกินไป ผู้มีความดันโลหิตสูงและโรคไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเค็ม ผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับ ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด ผู้ป่วยไส้เลื่อน อาจไม่สามารถเต้นรำในจังหวะที่สนุกสนานมากนัก
  • หลังงานปาร์ตี้ปีใหม่ ควรรอให้อาหารย่อยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงกรดไหลย้อน และไขมันสะสมบริเวณท้อง

การเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง เป็นช่วงของความสุข สนุกสนาน และการสังสรรค์ กับเพื่อนฝูงและครอบครัว ผู้ป่วยโรคประจำตัวก็สามารถไปร่วมสนุกสนานในงานปาร์ตี้ได้ หากรู้จักเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อไม่ทำร้ายตัวเองหลังจากเทศกาลผ่านไปแล้ว

 

ขอบคุณข้อมูล : นพ. ตุลย์ สุนาถวนิชย์กุล สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด