TOP

15 วิธี คัมภีร์ “ใช้ชีวิตนอกบ้านให้ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19” 

หลังจากสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในบางเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การฉลอง “ปีใหม่ 2564” อาจสุขไม่สุดด้วยเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ที่เคยรวมตัวเฉลิมฉลองปาร์ตี้ ปรับรูปแบบวีถีใหม่ New Normal เคาท์ดาวน์เรียลไทม์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์และออนไลน์ ต้อนรับปีใหม่ด้วยประกาศจากกรุงเทพมหานคร ในการขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไป จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และสั่งปิดบางสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นการชั่วคราว รวมถึงกำหนดมาตรการเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดและป้องกันโรค ดังนั้นการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ต้องเริ่มจากพวกเราทุกคน ที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ด้วยการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะนำไปแพร่กระจายสู่คนในครอบครัวได้ โดยทุกคนควรปรับตัวและให้ความร่วมมือเพื่อข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

 

อะราวด์รวบรวม 15 วิธีปฏิบัติตัวอย่างไรให้ห่างไกลโควิด-19 ที่เป็นดั่งคัมภีร์ “ใช้ชีวิตนอกบ้าน” ใน ยุคโควิด 2564 

 

เตรียมไอเท็มสู้ “โควิด-19” ให้พร้อม!!

สิ่งแรกที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง จากการรายงานข่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ที่มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นทุกวัน นั่นเพราะส่วนหนึ่งผู้คนไม่เห็นความสำคัญของการสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในต่างประเทศ เราต้องกลับมาเช็คลิสต์ความพร้อมของอุปกรณ์ป้องกันโควิดกันเลย ดังนี้

✔️ กระเป๋าใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ต่างๆ

✔️ หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าที่ได้คุณภาพ และความยาวของหน้ากากที่ได้มาตราฐานปกคลุมจมูกจนถึงปลายคาง สวมใส่สบาย ไม่เล็กเกินไปจนทำให้อึดอัด และไม่ใหญ่จนหลวม เลือกที่พอดีกระชับรูปหน้า ที่สามารถสวมใส่ได้ตลอดวัน

✔️ เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ที่มีค่าของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70% ขึ้นไป, สบู่เหลวแบบพกพา, กระดาษทิชชูเปียก เป็นต้น

——————–||——————–

 

มีวินัยในการป้องกันตัวเอง อย่างเคร่งครัด

พบว่าเมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย ผู้คนมักชะล่าใจด้วยการไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ หรือท่ามกลางผู้คนที่หนาแน่น ใช้มือสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ แล้วมาจับอาหารเข้าปาก หรือขยี้ตา โดยไม่ทันคิดว่าควรเคร่งครัดในการทำความสะอาดล้างมือ หรือฆ่าเชื้อโรคด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ก่อน ทำให้การแพร่ระบาดระลอกนี้จึงเป็นไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีวินัยเริ่มจากตัวเราเอง ทำให้เป็นความเคยชิน

——————–||——————–

 

ตั้งการ์ดสูง | สวมหน้ากาก | รักษาระยะห่าง | ล้างมือ

ศบค. เชิญชวนให้คนไทยตั้งการ์ดสูง เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาด “โควิด-19” ระลอกใหม่นี้ ด้วยมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและวิธีการป้องกันตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน ระวังตัวให้มากขึ้นด้วยการหลีกเลี่ยงพาตัวเองไปอยู่ในที่ผู้คนแออัด และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตรทุกครั้ง และย้ำว่าต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างน้ำฟอกสบู่มือบ่อยเท่าที่ทำได้ รวมไปถึงการเฝ้าระวังสังเกตุคนรอบข้างอยู่เสมอ

——————–||——————–

 

ออกนอกบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น

แม้หลายๆ สำนักงานจะประกาศให้ work from home กันอีกครั้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ บริษัทที่พนักงานต้องออกไปทำงานนอกบ้านตามปกติอยู่ สำหรับผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ยิ่งต้องดูแลและป้องกันตัวเองให้มาก หลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนที่ทำให้มีผู้คนแออัด หรือหากต้องนั่งรถมอร์เตอร์ไซด์ควรนั่งหันข้าง หมั่นทำความสะอาดอาบน้ำเปลี่ยนชุดทันที แต่ถ้าจะให้ดีอย่าออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อไวรัสโดยไม่รู้ตัว และหากสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ลดการพบปะผู้คนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดก็จะยิ่งดี

——————–||——————–

 

เช็คอิน-เช็คเอาท์ เข้า-ออก สถานที่ต่างๆ ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” 

เมื่อเราต้องเดินทางเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่จัดทำโดย ศบค. เพื่อส่วนรวม โดยใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น เมื่อเช็คอินแล้วข้อมูลจะถูกส่งไปที่กรมควบคุมโรค สามารถติดตามตัวผู้ใช้บริการเฉพาะเมื่ออยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เก็บเป็นข้อมูลในการเดินทางและเข้าใช้บริการยังร้านค้าต่างๆ ในบริเวณสถานที่ หากกรณีอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จะมีข้อความส่งตรงเข้ามาที่โทรศัพท์มือถือ ให้สามารถไปรับบริการตรวจฟรีได้ ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับ และเพื่อสามารถติดตามไทม์ไลน์ของผู้คนในการเข้าใช้บริการยังสถานที่ต่างๆ ในกรณีที่พบว่าผู้นั้นติดเชื้อโควิด ก็จะสามารถป้องกันตัวเองและผู้อื่น

——————–||——————–

 

ตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้ง

ทุกสถานไม่เว้นแม้แต่ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด สำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด รับบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจก่อนเข้าตัวอาคาร

——————–||——————–

 

หลีกเลี่ยงจุดสัมผัสร่วม 

การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด นอกจากจะทำให้ตัวเองปลอดภัยแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นๆ ปลอดภัยด้วยเช่นกัน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการจับต้องวัตถุ สิ่งของ ที่เป็น “จุดสัมผัสร่วม” อย่างเช่น ลูกบิดประตู, กลอนล็อกห้องน้ำ, ปุ่มกดลิฟท์, ราวบันได, ม้านั่งสาธารณะ, ห่วงจับบนรถเมล์, รถเข็นในห้างฯ เป็นต้น หากเป็นไปได้ให้ทำความสะอาดพื้นผิวนั้นๆ ก่อนใช้งาน หรือพยายามสัมผัสให้น้อยที่สุด และเลือกใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ หลีกเลี่ยงการจับเงินสด

——————–||——————–

 

อย่าเอามือสัมผัสใบหน้า

นอกจากต้องสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือบ่อยๆ แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกทำควบคู่กันไปด้วยนั่นคือ อย่าเอามือจับสัมผัสใบหน้า หรือขยี้ตา เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านดวงตา จมูก และปากได้ ดังนั้นใครที่ชอบเอามือจับหน้า แกะสิว ขยี้ตา ใช้มือเท้าคาง ฯลฯ ก็ต้องฝึกตัวเองใหม่ คันแค่ไหนก็ห้ามเกา ต้องไปล้างมือก่อนจับใบหน้าทุกครั้ง

——————–||——————–

 

ล้างมือ และอาบน้ำทันทีเมื่อถึงบ้าน

เมื่อกลับถึงบ้าน หากเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดีวทิ้ง ก็ให้ทิ้งทันทีโดยแยกทิ้งในถุงแยก หากเป็นหน้ากากผ้าที่สามารถทำความสะอาดได้ ควรซักและตากทันที หากสวมเสื้อคลุม ให้ถอดแขวนเอาไว้ที่บริเวณประตู หรือที่ที่อากาศถ่ายเท ไม่ปะปนกับเสื้อผ้าสะอาดเตรียมซักทันที อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่

——————–||——————–

 

แยกของใช้ส่วนตัว ไม่จับมือ ไม่กอด

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ช่วงโควิดระบาด เมื่อออกนอกบ้านแล้วเจอเพื่อนๆ ผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือคนรู้จัก จะปลอดภัยกว่าถ้าหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวเวลาทักทายกัน แนะนำให้ทักทายด้วยการไหว้ พยักหน้า หรือโค้งคำนับ หลีกเลี่ยงการจับมือหรือการสวมกอด นอกจากนี้ควรพกของใช้ส่วนตัวไปด้วยเสมอ ต้องใช้แยกกับผู้อื่น

——————–||——————–

 

อาหารปรุงสุก | กินร้อน | ช้อนเรา

การทำให้ร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานวิตามินซีเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายที่เพิ่มภูมิคุ้มกันจากภายในสู่ภายนอกสู้โควิด และควรเป็นอาหารที่ปรุงสดใหม่ สุก ร้อน และใช้ช้อนส่วนตัว

——————–||——————–

 

เลือกบริการ Take a way อาหาร

หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ดีที่สุดในช่วงของการแพร่ระบาด คือการเลือก Take a way อาหารจากร้านมารับประทานที่ออฟฟิต หรือที่บ้าน มากกว่าการนั่งรับประทานที่ร้านอาหาร หรือใช้บริการเดลิเวอรี่อาหารก็ช่วยให้ชีวิตเซฟความปลอดภัยที่ไม่ต้องออกนอกบ้านไปอีกระดับ

——————–||——————–

 

งดใช้บริการสถานที่เสี่ยงต่างๆ ช่วงแพร่ระบาด

ในขณะที่ประกาศของกรุงเทพมหานครฉบับล่าสุด จากมติประชุมเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 และพร้อมกับประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ได้มีการประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ดังนี้ สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการลักษณะที่คล้ายกัน, สวนน้ำ สวนสนุก, สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด, โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด, สถานที่เล่นตู้เกม, ร้านเกม และร้านอินเตอร์เน็ต, สนามซ้อมและชนไก่, สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติ), สนามมวย, โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้(ยิม), สนามม้า, สถานประกอบการกิจการอาบน้ำ, อาบอบนวด, สนามแข่งขันทุกประเภท, สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง, สนามชนโค สนามกัดปลา, หรือสนามแข่งขันอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน, ศูนย์พระเครื่อง, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนวัยเรียน, สถานเสริมความงาม ที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นคลีนิกเวชกรรม สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง, สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส, สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า, สนามฝึกซ้อมมวย โรงยิม ค่ายมวย, สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน, สถาบันสอนลีลาศ, อาคารสถานที่ของโรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถาบันการศึกษาทุกประเภท

——————–||——————–

 

ออกกำลังกายที่บ้าน

ใช่ช่วงการระบาดของ “โควิด-19” สำหรับการออกกำลังกายเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงเสมอนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ควรออกกำลังกายที่บ้าน งดและหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ในสถานที่มีคนใช้บริการเยอะไปก่อน อย่าง โรงยิม ฟิตเนส และสนามสวนสาธารณะต่างๆ ลดความเสี่ยงจากผู้คนเยอะ และการใช้อุปกรณ์ร่วมกันดีที่สุด

——————–||——————–

 

ติดตามข่าวสารจากทางการอยู่เสมอ

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสาร มีเสิร์ฟให้เราได้รับรู้จากหลายช่องทาง ควรอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ แบบวันต่อวันเสมอ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เช็คพื้นที่เสี่ยง เช็คแถลงการณ์ของทาง ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการระวังตัวลดความเสี่ยงต่างๆ  เช็คล่าสุดการประกาศของกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 15) ได้ที่ เฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ คลิกเลย!

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด