TOP

‘พญ. ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์’ ก้าวผ่านโควิด19 ด้วยความแข็งแรงทางใจและภูมิคุ้มกันด้านการเงิน

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 การดูแลจิตใจของประชาชนเป็นอีกสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญ กรมสุขภาพจิต ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ได้เร่งพัฒนาบริการที่มีอยู่และเพิ่มเติมบริการใหม่ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรภายนอก เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด โดย พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้พูดคุยถึงภาพรวมการทำงานของกรมสุขภาพจิต พร้อมเผยสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานในปัจจุบัน การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

‘ทุกวันนี้ 1 ใน 4 ของประชากรโลก กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต พญ.ดุษฎี เล่าภาพง่ายๆ ว่า “ประชากร 4 คนจะมี 1 คน ที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยแสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ หรือทักษะทางสังคม และเมื่อหนึ่งคนมีปัญหา จะมีอีกสองคนได้รับผลกระทบ เช่น คนในครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ผลของปัญหาสุขภาพจิตจึงมากกว่าที่เราเข้าใจ’

 

“ส่งเสริม” และ “ป้องกัน” แนวทางแก้ปัญหาใจป่วย

“ส่งเสริม” คือทำให้คนที่แข็งแรงอยู่แล้ว แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งกรมสุขภาพจิตเน้นสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยป้องกันจิตใจเมื่อมีปัญหาเข้ามา และสามารถจัดการกับปัญหาได้ “สำหรับวิกฤตโควิด19 นั้น อย่างแรกต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ ที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ เมื่อยอมรับแล้ว เรายึดหลัก ‘อึด ฮึด สู้’ อึด ต้องเกิดก่อนเสมอ ภาษาอังกฤษคือ tolerance เราต้องทนให้ได้ก่อน จากนั้นคือ ฮึด แล้วก็ลุกขึ้น สู้ต่อ ซึ่งเวลาที่จะลุกขึ้น เราต้องการทั้งกำลังภายใน และกำลังภายนอก โดยกำลังภายในคือ ‘ใจของเราเอง ที่มองเห็นปัญญา’ แล้วเลือกใช้ปัญญาเดินไปหาทางออก ส่วนกำลังภายนอกคือ ‘แรงสนับสนุนที่มาจากครอบครัว ชุมชน สังคม’ และรัฐบาลที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และพยุงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา

 

สำหรับคำว่า “ป้องกัน” นั้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเข้ามารักษาหรือบำบัด ที่ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม ล้วนเริ่มต้นจากความเครียด หรืออาการวิตกกังวล มีอาการข้างในไม่มีความสุข ซึ่งร่างกายก็อาจได้รับผลกระทบ และส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และกินอาหารไม่อร่อย อาการเหล่านี้ ถ้าได้รับการช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นแค่ความเครียด ยังไม่ป่วยเป็นซึมเศร้า ไบโพลาร์ หรือจิตเภท เราสามารถช่วยได้เยอะมาก

—–||—–

 

หลากหลายช่องทาง “บริการแก้ปัญหาสุขภาพจิต”

แรกเริ่มของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เกิดจากแนวคิดที่ตั้งใจช่วยคนที่คิดจะฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตมีความหลากหลาย และมีประชาชนโทรเข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์ได้ไม่ทั่วถึง

 

จำนวนตัวเลขผู้ที่ต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตของประเทศไทยมากที่สุด ถึงประมาณปีละ 800,000 สาย แต่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รับได้จริงประมาณ 200,000 สาย เพราะเรามีบุคลากรเพียง 10 คู่สาย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และช่วยดูแลจิตใจ แม้ทุกวันนี้มีการปรับขึ้นเป็น 12 คู่สาย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มช่องทางออนไลน์อื่นๆ เข้ามาช่วย

 

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตมีเว็บ “แอปพลิเคชัน Mental Health Check-In” ให้ประชาชนเข้ามาประเมินสุขภาพจิตตัวเอง โดยการเช็กอินและกรอกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกลับในกรณีที่เกิดปัญหาหนัก นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงานเชิงรุก อีกบริการคือ “ไลน์ KHUIKUN (คุยกัน)” ที่เปิดให้ประชาชนทักแชตเข้ามาพูดคุยกับบุคลากรด้านสาธารณสุข แม้จำนวนเจ้าหน้าที่อาจจะยังไม่มากเท่าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แต่ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ให้การช่วยเหลือที่มีประสิทธิผล นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตเปิดตัว แอปพลิเคชันใหม่ “SATI (สติ)” เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเป็นจิตอาสา เพื่อช่วยรับฟังในฐานะนักรับฟังเชิงลึก โดยจิตอาสาทั้งหมดต้องผ่านการอบรม ในหลักสูตรของกรมสุขภาพจิต ใครที่มีความเครียดหรือความทุกข์ใจ ก็เลือกได้ทั้งรูปแบบการแชตและวิดีโอคอล โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

—–||—–

 

สายด่วนสุขภาพจิต 1323

จับมือ ธปท. เสริมทักษะ “แก้หนี้” รับมือความเครียด

เรากำลังทำงานร่วมกันระหว่าง คลินิกแก้หนี้ของ ธปท. และ ทีมสายด่วน 1323 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ธปท. ขอความช่วยเหลือมาที่กรมสุขภาพจิต โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือเคสลูกหนี้ที่มีจำนวนเยอะมาก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่คลินิกแก้หนี้ที่รับสายมากๆ นั้น นำเอาความเครียดมาอยู่กับตัวเอง เบื้องต้นคือ เราเข้าไปดูแลจิตใจบุคลากรที่เครียด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่มองต่อไปคือ การแก้ปัญหาที่ต้นตอ เราจึงจัดการอบรมเพื่อเสริมชุดทักษะการฟังเชิงลึก หรือ deep listening ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เป็น deep listener ที่สามารถรับมือกับคนที่เครียดจากหนี้สินได้ และในขณะเดียวกันก็ดูแลจิตใจของตัวเองไปด้วย โดยไม่เก็บความทุกข์ของผู้โทรมาเป็นของผู้รับสายเอง นอกจากการอบรมให้เจ้าหน้าที่เป็น deep listener แล้ว ทาง ธปท. ยังได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน

 

ในกรณีที่เคสเกินกำลังเจ้าหน้าที่ ธปท. เราได้มีการอบรมให้ผู้รับสายช่วยถามเพื่อขออนุญาต และขอเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละเคสไว้ หากต้องการการดูแลจิตใจ นักจิตวิทยาของกรมสุขภาพจิต ก็จะติดต่อไปเพื่อให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยตรง ในทางกลับกันผู้ที่โทรเข้ามาที่สายด่วนสุขภาพจิต ที่มีความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน เจ้าหน้าที่สายด่วนก็จะถามถึงความต้องการในการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ธปท. หากต้องการเราจะส่งต่อเบอร์โทรศัพท์ ให้เจ้าหน้าที่ของคลินิกแก้หนี้ให้ติดต่อกลับไป เพื่อให้คำปรึกษา สำหรับเคสร้ายแรงระดับถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ พญ.ดุษฎี ยอมรับว่าต้องมีอย่างแน่นอน โดยเป็นเคสในระดับที่ต้องส่งต่อนักจิตวิทยาสายด่วนสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้การดูแลและรักษาต่อไป

—–||—–

 

ปลายทางความร่วมมือคือ ‘ประชาชน’

ความคาดหวังในการร่วมมือกับ ธปท.ในครั้งนี้ พญ.ดุษฎีในฐานะตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต ต้องการดูแลด้านจิตใจและมองเป้าหมายมุ่งไปเพียงแค่ว่า “ทุกคนจะได้อะไร” จึงพยายามให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ และมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการดูแล

พวกเราแทบไม่ได้มองว่าเขาป่วย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าจะเรียกว่าป่วยก็ป่วยกันหมด ดังนั้น ไม่ว่าจะเครียดมากน้อยแค่ไหน ก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด ส่วนความท้าทายของกรมสุขภาพจิต ต่อสถานการณ์แห่งความยากลำบากของวิกฤตโควิด19 ที่ยังไม่จบลงง่ายๆ นี้ พญ.ดุษฎี มองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง

 

ปัญหาสุขภาพจิต ที่เกิดในสถานการณ์โควิด19 เป็นเคสที่ไม่ได้หนักหนาเกินกว่าที่เคยมีมาในอดีต วิกฤตต้มยำกุ้งหนักหนาสาหัสกว่านี้ พวกเราก็เคยผ่านกันมาได้แล้ว ความท้าทายของการทำงานครั้งนี้ จึงอยู่ที่ความครอบคลุมมากกว่า พวกเราสามารถช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ครอบคลุมหรือยัง ช่วยไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะจัดบริการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

—–||—–

 

ดูแลจิตใจ “ตัวเรา” และ “คนรอบข้าง”

เคล็ดลับบำบัดด้วยตัวเอง

เพราะในแต่ละวัน คนเรามีทั้งเรื่องที่ทำให้มีความสุขและไม่มีความสุข อยากให้ทุกคนได้อยู่นิ่งๆ กับตัวเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้น เป็นการฝึกให้มองโลกได้ตามจริง เวลาที่เห็นเรื่องดีๆ ให้ใช้เวลาอยู่กับประสบการณ์นั้นสักพัก เพราะนี่คืออาหารใจ มองให้เห็นว่าวันนี้เราทำอะไรได้ดี ส่วนที่ทำได้ไม่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่ในวันรุ่งขึ้น ถ้ามองให้เห็นอย่างนี้ โลกมีอะไรดี ตัวเรามีอะไรดี ทำแบบนี้ไปซ้ำๆ ในแต่ละวันจะช่วยได้ อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้อย่างเห็นผล คือการออกกำลังกายและการฝึกสมาธิ ส่วนใครที่ต้องอยู่กับคนที่มีความเครียด พญ.ดุษฎีแนะนำว่า ต้องฝึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจ แบบที่เรียกว่า “ไม่ร่วมหัวจมท้าย” เป็นการยืนอยู่ในมุมมองที่เห็นตัวเองว่า เรากับเขาคนละคนกัน ปัญหาใครคนนั้นแก้เอง น้ำตาใครคนนั้นต้องเช็ดเอง เราทำได้เพียงยื่นผ้าเช็ดหน้าให้ ถ้าเลือกที่จะรับ ขอให้รับความไว้วางใจ เพราะการที่ใครสักคนจะพูดเรื่องความทุกข์ของตัวเองให้เราฟัง แปลว่า เขาต้องไว้ใจเรามาก อยากให้ขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ที่เขามอบความไว้วางใจให้เรา เป็นมุมมองที่สร้างพลังบวกให้ตัวเราเอง

—–||—–

 

นอกจากใจที่แข็งแรง ต้องมีภูมิคุ้มกันด้านการเงิน

สถานการณ์โควิด19 ต่างส่งผลกระทบกับทุกคนไม่มากก็น้อย นอกจากอยากเห็นทุกคนมีความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้นจากตัวเอง คนรอบข้าง และเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะดูแลแล้ว ยังมีอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปเท่านั้น แต่จะดีกว่า เมื่อมีความพร้อมเสมอไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต พญ.ดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย

—–||—–

 

หลากหลายช่องทาง

“บริการแก้ปัญหาสุขภาพจิต”

สายด่วนสุขภาพจิต 1323

เว็บแอปพลิเคชัน: Mental Health Check-In

แอปพลิเคชัน: SATI

Line: KHUIKUN (คุยกัน)

 

———-||———-

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ นิตยสาร BOT พระสยาม

ที่มา: นิตยสาร BOT พระสยาม ฉบับที่ 2/2021

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด