TOP

ท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ชิลล่องป่าแอมะซอนเมืองไทย สัมผัสเสน่ห์ชุมชนอนุรักษ์ “ลีเล็ด” ไปกับแคมเปญ ‘ชนบทที่รัก Silver Age 5.0’

เพราะความทรงจำเป็นสิ่งที่มีค่าต่อความรู้สึก การถวิลหาอดีตจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ที่ได้รำลึกนึกถึงประสบการณ์ที่เคยมีต่อสถานที่ อันเกิดความประทับใจจากการเดินทาง ผู้คน หรือแม้แต่ความผูกพันต่อสิ่งที่เคยผ่านยุคสมัยในอดีต และในอีกหลายๆ คนอาจโหยหาสิ่งที่อยากทำและยังไม่เคยได้ลงมือทำ จึงไม่แปลกที่หนุ่มสาวรุ่นใหญ่วัยเก๋าเหล่า “ซิลเวอร์เอจ” (Silver Age 5.0) อยากย้อนเวลากลับไป สัมผัสกับประสบการณ์อันทรงเสน่ห์ต่อความรู้สึกนึกคิด และนี่เองจึงเป็นที่มาเมื่อ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จับมือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และเหล่าพันธมิตรในธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมกันต่อยอดความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวซิลเวอร์เอจ ผู้ทรงพลังที่สุดของยุคนี้ ที่ต่างให้กำไรชีวิตด้วยการท่องเที่ยวเติมความสุขกับแก็งก๊วนวัยเดียวกัน ให้ชีวิตมีสีสันอยู่เสมอ และเป็นกลุ่มที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นพิเศษ สนุกกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แชร์เรื่องเล่า เม้าท์มอยเรื่องวันวาน ย้อนความสุขสมัยยังเด็ก เสาะแสวงหาของกินพื้นถิ่นอร่อย ปล่อยความรู้สึกสุนทรียะไปกับธรรมชาติ ต้องการสัมผัสบรรยากาศแบบชนบท ด้วยแคมเปญ “ชนบทที่รัก Silver Age 5.0” 

 

เที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ล่องป่าแอมะซอนเมืองไทย

สัมผัสเสน่ห์ชุมชนอนุรักษ์ “ลีเล็ด” 

ชุมชนลีเล็ด นำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งใน 16 ชุมชน ที่ได้รับการพัฒนายกระดับให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สำหรับนักเดินทางรุ่นใหญ่วัย “ซิลเวอร์เอจ” ภายใต้แคมเปญ ชนบทที่รัก Silver Age 5.0ซึ่งถือเป็นโครงการซีซั่น 2 ของ Thailand Village Academy ที่ทริปนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านรองฯ อัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมคณะ และ ท่านรองฯ นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ นำร่องท่องเที่ยว

ชุมชนลีเล็ด แห่งนี้ เป็นชุมชนเล็กๆ ชายฝั่งที่มีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ ตั้งอยู่ ณ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่ชาวกรีนเลิฟเวอร์ต้องหลงรัก เป็นชุมชนที่ถูกโอบกอดด้วยสีเขียวของธรรมชาติ อันเต็มไปด้วยโอโซนบริสุทธิ์ ที่นี่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ภายใต้แกนนำของ กำนันประเสริฐ ชัญจุกรณ์ ประธานกลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ที่รณรงค์ให้ทุกคนมีสำนึกรักในมรดกอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าของท้องถิ่น ให้ได้เป็นแหล่งหากินกันไปชั่วลูกหลาน โดยไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เต็มไปด้วยแม่น้ำ ลำคลอง ลำบาง ลำคู ลำร่อง ที่เชื่อมต่อกันมากมาย จนได้รับการเรียกขานว่า “คลองร้อยสาย” สองข้างทางเรียงรายเต็มไปด้วยสารพัดต้นไม้นานาชนิดเขียวขจี ไม่ว่าจะเป็น ต้นจาก โกงกาง แสมดำ แสมขาว และอีกมากมาย โดยเฉพาะ “ต้นลำพู” นับล้านต้นเติบโตจน “รุกทะเล” ตามธรรมชาติ จากแม่น้ำสู่ปากอ่าวขยายพื้นที่ป่าชายเลนสู่ทะเล และมีจำนวนการเติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายพื้นที่มากที่สุดราว 7,818 ไร่ ในปี พ.ศ. 2550 ปัจจุบันนี้ครอบคลุมพื้นที่ 8,000 ไร่ไปแล้ว จนได้รับการขนานนามว่า “ป่าแอมะซอนเมืองไทย”

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ไม่ธรรมดา จัดได้ว่าสมบูรณ์อย่างที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โครงการต่างๆ เริ่มเข้ามาให้การสนับสนุน ชาวชุมชนพร้อมพัฒนาเปิดบ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงนิเวศน์ระดับจังหวัด ต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสบรรยากาศที่สุดแสนจะคูล ดูนกชมไม้ สบายใจสุดๆ ผ่อนคลายแบบครบวงจร ที่นอนหมอนมุ้งก็มีให้เลือกพักแบบโฮมสเตย์ เช็คอินถ่ายรูปเท่ๆ บนเรือนำเที่ยว ส่องสัตว์ สัมผัสโอโซนบริสุทธิ์ ล่องชมป่าจาก ป่าลำพู แถมมีปราชญ์ชุมชนคอยให้ข้อมูล

สำหรับทริป “ชนบทที่รัก ณ ชุมชนลีเล็ด” เราเหล่าคณะ “ซิลเวอร์เอจ” เดินทางมาถึงยังโฮมสเตย์ของ กำนันประเสริฐ ที่ชาวชุมชนรอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ราวกับมาเยี่ยมเยียนบ้านเพื่อน น้ำท่า ขนมจัดเสริฟเต็มที่ มองไปโดยรอบ สัมผัสแรกให้ชื่นใจไปกับอากาศอันบริสุทธิ์ สูดเข้าไปเต็มปอดกันแบบยาวๆ ดงต้นจากเขียวครึ้มริมแม่น้ำข้างโฮมสเตย์ มีความเบลนด์เรื่องราวสู่ ขนมจาก ในมือ ที่ห่อด้วยใบจากสด หอมกลิ่นขนมจากย่างสุกร้อนๆ รสชาติหวานมันของข้าวเหนียวดำ ผสานกับมะพร้าวขูดหยาบ อร่อยเต็มคำ ยังมีขนมโบราณ ขนมหน้าหลุบ ห่อใบตอง อีกซิกเนเจอร์ที่ภูมิใจนำเสนอ หน้าตาครึ่งวงกลม ตรงกลางหลุบเข้าไปเป็นหลุม ทำจากข้าวเหนียวดำ รสชาติหวานมันตัดเค็มเล็กน้อย เหนียวหนึบกลมกล่อม รับประทานพร้อมมะพร้าวขูดฝอยอร่อยดี เสิร์ฟคู่กับ “กาแฟมะพร้าว” กาแฟที่มีส่วนผสมของน้ำมะพร้าวสดและกะทิ หอมชื่นใจ รสสัมผัสแตกต่างไปจากกาแฟที่เคยลิ้มลอง นัวกลมกล่อมไปอีกแบบ เป็นประสบการณ์รสชาติใหม่ๆ ที่ต้องจดจำเลยทีเดียว

และที่น่ายกย่องในภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ ที่นำเอาวัตถุดิบหาง่ายมีมากมายในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ใบจาก มะพร้าว มาประยุกต์ทำขนมจนรสชาติถูกปาก และสืบสานขนมโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้าน มาแบ่งปันให้พวกเราชาวคณะ ได้ลองลงมือทำกันอย่างสนุกสนาน พร้อมชิมฝีมือสุดอร่อยของตัวเอง แถมขนมเหล่านี้ยังสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับแม่บ้านในชุมชนอีกด้วย

รองท้องกันด้วยของว่างไปแล้ว ถึงเวลาจัดเต็มมื้อหลักด้วยฝืมือเชฟชุมชน เมนูที่เราขอเติมเส้นเติมน้ำแกงหลายครั้ง ขนมจีนน้ำแกงเนื้อปู รสเด็ดเผ็ดปลายลิ้น กลมกล่อมอร่อยด้วยส่วนผสมของกะปิ หอมเครื่องแกงที่โขลกเอง เนื้อปูที่สดหวาน รับประทานพร้อมผักหลากชนิดที่จัดมาเป็นเครื่องเคียง

อิ่มหนำสำราญ เดินทางต่อมาเยี่ยมชม “กลุ่มอาชีพทำกะปิ” ของดีขึ้นชื่อของชุมชนระดับอำเภอ ที่ได้ยินว่ามีเท่าไหร่ก็ขายหมด นี่เป็นครั้งแรกที่สาวๆ ซิลเวอร์เอจ จะได้มีส่วนร่วมในการทำกะปิสด เราต่างจินตนาการไปถึงเมนูน้ำพริกกะปิรสจัดจ้าน กลืนน้ำลายแล้วตั้งใจชมวิธีการทำกะปิแบบโบราณที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เริ่มจากการคัดกุ้งเคยตัวเท่านิ้วก้อย หาจับกันในทะเลสุราษฎร์ โดยแยกเอาขยะ หรือตัวปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ผสมปนเปมาออกให้หมด ต้องใช้กุ้งเคยร้อยเปอร๋เซ็นต์ นำไปตากแดดประมาณ 4 ชั่วโมง แล้วนำมาตำหยาบๆ กับเกลือ ในอัตราส่วนกุ้ง 10 กก. ต่อเกลือ 1 กก. เมื่อตำเสร็จแล้วนำไปหมัก 2 วัน และนำไปตากแดดอีกครั้ง 4 ชั่วโมง

จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด และหมักอย่างน้อย 15 วัน ถึง 1 เดือน ยิ่งหมักนานยิ่งดีเลย นำไม้เสียบลูกชิ้นมาสไลด์ให้บางมาขัดกะปิในโหล หรือเรียกว่าขัดน้ำแบบโบราณ ยิ่งเพิ่มความหอมของกะปิ เมื่อน้ำของกะปิขับขึ้นใสๆ เรียก “น้ำเคย” นั้น ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ น้ำกะปิเอาไปหมักและเคี่ยวต่อทำเป็น ‘น้ำปลา’ ได้อีก

นี่เรียกได้ว่าเผยเคล็ดลับแบบหมดเปลือก กะปิคุณภาพอร่อย สด สะอาด ขึ้นชื่อของชุมชนลีเล็ด ที่หนุ่มใหญ่สาวใหญ่ต่างได้เรียนรู้ภูมิปัญญาที่มีมาแต่บรรพบุรุษของคนชุมชน และได้ลองลิ้มรสชาติกะปิสุดอร่อย ที่ทำเป็นน้ำปลาหวานรสจัดจ้าน หอมอร่อยสุดๆ ไปเลย และไม่พลาด! มาถึงถิ่นทั้งที มีหรือที่จะไม่ช่วยกันอุดหนุนตุนกะปิของดี กลับไปฝากคุณพ่อบ้านแม่บ้าน

ที่นี่เน้นเรื่องการปลูกจิตสำนึก ไม่ให้ทำลายทรัพยากรแม่น้ำลำคลอง ทะเล ป่าชายเลน เมื่อระบบนิเวศน์ดี สิ่งที่ได้รับคือทรัพยากรจากธรรมชาติที่นำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่าง ต้นจาก ที่ขึ้นและเติบโตเองตามธรรมชาติตามแนวป่าชายเลนมีมากมายในชุมชน นอกจากจะช่วยเป็นแนวกั้นดินทะลาย เสมือนเป็นเขื่อนต้นจากแล้ว ต้นจากยังช่วยดูดซับสารอินทรีย์ หรือสารโลหะหนัก ไนไตรท์ ไนเตรท ได้ดีที่สุด มันจึงเป็นเสมือนเครื่องกรองของเสียช่วยให้ระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะคุณภาพของน้ำดีขึ้น มีแพลงตอนที่ดี โดยต้นจากหนึ่งต้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนไม่น้อยกว่าสิบอย่าง เช่น ‘ลูกจากอ่อน’ เอามากินแทนผักลวกจิ้มน้ำพริก ‘ลูกที่พอดีกิน’ เอาไปทำเป็นขนม ส่วน ‘ลูกที่แก่’ เอาไปเผาแล้วนำมาทำเป็นยาแก้โรคเก๊าท์ และ ‘ใบอ่อน’ นำมาทำมวนบุหรี่ ‘ใบแก่’ ก็ยังเป็นประโยชน์นำมาห่อขนมจาก หรือไม่ก็นำมาทำจากมุงหลังคา และยังสามารถเอามาสานตกแต่งสถานที่ หรือออกแบบเป็นหมวกสานใบจากที่สวยงามได้อีกด้วย ส่วน ‘พงจาก’ คนที่นี่เรียกว่า ‘ปงจาก’ เป็นส่วนรากที่มีความเหนียวของเส้นใยมาก นำมาแปรรูปทำกระดาษสา ส่วน ‘ต้นจาก’ นำมาทำเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เรียกว่า ‘ช้อนปีก’ เอามาดักกุ้งเคยที่นำมาทำกะปิ อะเมซิ่งต้นจากหนึ่งต้นมีอายุเป็นร้อยปี และยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมายแบบนี้ โดยเฉพาะในชุมชนลีเล็ด เคยมีการสำรวจปริมาณต้นจาก ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 12 ล้านต้น ในพื้นที่ป่าชายเลนที่กินบริเวณกว้างถึง 8,000 ไร่

ต้นจากจำนวนมหาศาลนี้ สามารถทำประโยชน์แปรรูปเป็นภาชนะ เครื่องจักสาน ใช้สอยกันภายในชุมชน และจำหน่ายนำกลับไปเป็นของใช้ของที่ระลีก ฝีมือสุดปราณีตจากเหล่าแม่บ้าน “กลุ่มอาชีพจักสาน” อีกด้วย

มาถึงไฮไลท์ของทริป อากาศกำลังสบาย คณะ “ซิลเวอร์เอจ” ได้จัดกระบวนเรือหางยาว ที่ชาวชุมชนดัดแปลงเรือประมงพื้นบ้าน มาทำความสะอาดเพิ่มที่นั่ง พร้อมให้บริการแก่นักท่องเที่ยว มีให้เลือกทั้งลำเล็ก ลำใหญ่ ตามความเหมาะสมของจำนวนคน แต่ละลำเรือจะมีนายเรือช่วยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้ทุกคนสวมใส่เสื้อชูชีพ ก่อนพาเราทะยานเรือสู่ป่าผืนใหญ่ที่ได้รับการขนานนามว่า “ป่าอเมซอนเมืองไทย” ขณะล่องเรือไปบนแม่น้ำ จะเห็นลำคลอง ลำบาง ลำคู ลำร่องทั้งสองฟากฝั่งมากมายแยกซ้ายแยกขวา เชื่อมต่อสายหนึ่งไปอีกสายหนึ่ง คนที่นี่เรียกว่า ‘คลองร้อยสาย’ เราได้สอบถามกำนันประเสริฐว่า มีถึงร้อยจริงหรือไม่? คำตอบนั้นมากกว่าร้อยสาย ด้วยพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่เหลือเกิน ความเขียวขจีของเหล่าพรรณไม้สองริมทางสายน้ำ และแม่น้ำบางช่วงแคบเข้ามา ทำให้ได้เอามือสัมผัสพรรณไม้ที่โน้มเอียงลงราวดั่งอุโมงค์ต้นไม้เป็นระยะ ต้นลำพูจำนวนมหาศาลขึ้นหนาแน่นกว่าล้านต้น และยังมี ต้นจาก แสมดำ แสมขาว โกงกาง ต้นมะพร้าว และที่นี่มีหอยแครงจำนวนมากมาเจริญเติบโต ซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และความบริสุทธิ์สะอาดของแหล่งน้ำ

ระบบนิเวศน์แบบสองน้ำ ที่เรียกว่า “น้ำกร่อย” และ “น้ำเค็ม” ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณไม้ สัตว์บก และสัตว์น้ำ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงทางด้านการท่องเที่ยว เวลาน้ำขึ้นหรือเวลาน้ำลง มีผลอย่างมากต่อการล่องเรือ และการเข้าไปให้ถึงในบริเวณที่สวยงามที่สุด ระหว่างเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม น้ำจะขึ้นมากในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันน้ำจะน้อยแห้ง สำหรับเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ และ มีนาคม ใน 8 เดือนนี้ น้ำจะขึ้นมากในช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะแก่การล่องเรือเที่ยว น้ำขึ้นน้ำลงจะขึ้นวันละ 50 นาที จึงต้องมีการเช็คตารางน้ำขึ้นลงก่อนการเดินทางมาท่องเที่ยวกับผู้นำเที่ยวเสียก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ได้มีช่่่่่วงเวลาสุดประทับใจ

ก่อนเรือแล่นออกสู่ปากอ่าวทะเล ณ บริเวณจุดที่เราเลือกลงไปปลูกป่า เป็นการตอกย้ำความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าแอมะซอนประเทศไทยผืนใหญ่ที่สุดนี้ให้อยู่คูุ่ชุมชนลีเล็ด ด้วยการนำต้นกล้าโกงกางลงไปปักเลน และติดป้ายประกาศก้อง “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ “ห้ามตัดไม้ทำลายป่า” เป็นดั่งสัญญาของเราทุกคน และเตือนใจคนในชุมชนให้หวงแหนมรดกอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ให้คุณเหลือคณานับอีกด้วย

ระหว่างทางยังได้เห็นสารพัดสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นลิงแสม ตัวเงินตัวทอง นกหลากสายพันธ์ุ เหยี่ยวแดง ปลาตีน ปูแสม และพอมาถึงช่วงที่เรียกว่าเกาะกา เป็นเสมือนเกาะที่มีต้นลำพูหนาแน่น เราจะได้เห็นเหล่า ‘นกปากห่าง’ จำนวนนับพันเกาะที่กิ่งและยอดต้นลำพู เหล่านกปากห่างจะหากินบริเวณนี้เป็นประจำ และเป็นความมหัศจรรย์ที่ได้เห็นประชากรนกชนิดนี้รวมกลุ่มกันมากมาย และโบยบินไปสู่ท้องฟ้า ภาพนกเหนือป่าลำพูรับกับวิวแม่น้ำ ช่างงดงามจับใจ นั่งชมเพลินไม่มีเบื่อ แม้จะเป็นเวลากว่าชั่วโมงที่อยู่กันบนเรือ แต่ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยชี้นกชมไม้กันไปอย่างสนุกสนาน

ขณะเรือค่อยๆ แล่นออกจากปากแม่น้ำ ภาพค่อยๆ เปลี่ยนจากบรรยากาศเขียวครึ้มของเหล่าพรรณไม้สู่ผืนทะเลกว้าง ‘ขนำ’ หรือ ที่พักของชาวประมง ปลูกอยู่ในทะเลเวลาออกจับกุ้ง จับปลา และหอยแครง เป็นภาพที่อาจคุ้นตากับทะเลทางใต้ อีกทั้งเยังเป็นจุดชมวิวอีกเสน่ห์ที่สวยงามขณะล่องเรือผ่าน

ยามค่ำคืน ยังมีอีกโปรแกรมเด็ดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาเยือนถิ่นแดนใต้เมืองสุราษฎร์ธานี ที่ชุมชนลีเล็ด ขึ้นชื่อเรื่อง การล่องเรือชมหิ่งห้อย แสงสวรรค์ที่ธรรมชาติสรรสร้าง เราจะได้เห็นหิ่งห้อยนับแสนนับล้านตัวบนต้นลำพูนับล้านต้น พร้อมใจกันกระพริบวิบวับราวกับระบำหิ่งห้อย กำนันประเสริฐบอกกับเราว่า หนึ่งต้นลำพูมีประชากรหิ่งห้อยอย่างมากที่สุดถึง 500 ตัวในบางต้น เวลาดีในการชมหิ่งห้อยที่นี่คือ เวลาทุ่มครึ่งเป็นต้นไป การชมหิ่งห้อยที่ดีนั้นไม่ควรใช้แสงไฟใดๆ อันเป็นการรบกวนวงจรชีวิตของหิ่งห้อย ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟจากดวงไฟ จากโทรศัพท์มือถือ หรือแฟลชของกล้องถ่ายรูปก็ตาม เพราะจะยิ่งทำให้หิ่งห้อยมีอายุขัยที่สั้นลง

อิ่มเอมไปกับการท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่า เดินทางอย่างมีความหมาย สัมผัสผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถเติมเต็มความสุขแบบนี้ได้ทุกเวลา ณ ชุมชนลีเล็ด นำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ จ.สุราษฎร์ธานี

 

เรียนรู้วิถีชีวิต ล่องเรือชมอุโมงค์ต้นจาก

เดินท่องชุมชนบางใบไม้

นอกจากชุมชนลีเล็ด จะเป็นทริปชูโรงท่องเที่ยวในแคมเปญ “ชนบทที่รัก” แล้ว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมอีกชุมชนที่น่าสนใจ และมีเรื่องราวการดำเนินชีวิตอันเรียบง่ายเคียงคู่สายน้ำ นั่นคือ ชุมชนบางใบไม้ เราสามารถใช้เวลาครึ่งวันกับการท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์ที่นี่ เริ่มจากบริเวณลานหน้าตลาดน้ำประชารัฐ บางใบไม้ เพื่อความเป็นสิริมงคล แวะนมัสการ ‘หลวงพ่อข้าวสุก’ บริเวณข้างวัดบางใบไม้กันก่อน พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพักตร์ยิ้ม อายุกว่าร้อยปี สร้างจากข้าวสุกเสกคาถาที่เหลือจากก้นบาตรวันละเล็กละน้อย โดยหลวงพ่อขำ เป็นความเชื่อว่าจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจตามความเชื่อของชาวบ้านสมัยนั้น ต่อมามีคนปั้นข้าวสุกพอกที่องค์หลวงพ่อ พร้อมต่อเติมองค์เดิมจนมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้นหล่อด้วยทองแดงหุ้มองค์หลวงพ่ออีกทีเพื่อกันมดแมลง พระพุทธรูปหลวงพ่อสุกเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบางใบไม้ และชาวคลองร้อยสายเลยทีเดียว ด้วยความเชื่อที่ว่า ข้าวนั่นหมายถึงอู่ข้าวอู่น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ ทำให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปริศนาธรรมของผู้สร้างที่แฝงอยู่กับความเชื่อของชาวบ้าน และยังได้สัมผัสความน่ารักของผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อทำบุญลงตู้บำรุงน้ำไฟ ข้างหลวงพ่อสุก ท่านก็เอาสายศีลมาผูกให้ที่ข้อมือ พร้อมพึมพำบทสวดอวยพร สาธุ!

จากนั้นเดินช้อป ชิม แบบชิลๆ ตลอดริมทางใน ตลาดน้ำประชารัฐ บางใบไม้ ที่มีพิกัดบริเวณวัดบางใบไม้ เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของเมืองสุราษฎร์ เปิดทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. บรรยากาศตลาดบนพื้นที่ท้องร่องสวนมะพร้าว และป่าจากที่ขนาบริมคลองบางใบไม้อันร่มรื่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้ จากการนำผลผลิตในท้องถิ่นมาจำหน่าย ด้านหน้าทางเข้าเดินข้ามสะพานตรงเข้าสู่ตัวตลาด ตลอดเส้นทางเดินเข้าออกมีร้านค้ามากมายขายทั้งของกินของใช้สารพัด

ตลาดชิคๆ ที่มีคอนเซ็ปต์ดีงาม ได้รับการออกแบบกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ร้านค้าใช้หลังคามุงจาก ภาชนะใส่อาหารทำจากวัสดุธรรมชาติ มีที่พักผ่อนที่นั่งรับประทานอาหารกระจายทั่วบริเวณ ตามท้องร่องสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ มีบึงน้ำ สะพานไม้ ตกแต่งเก๋ไก๋ประดับธงสี ให้บรรยากาศสนุกสดชื่น ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ ทิวมะพร้าว พ่อค้า แม่ขาย จำหน่ายทั้งของกิน ของสดพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล สินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปในชุมชนหลากหลาย อาหารพื้นถิ่น และขนมไทยพื้นเมือง ในราคาย่อมเยาว์ และยังได้แลกเปลี่ยนพูดคุยต่อรองราคาสนุกอย่างเป็นกันเอง โดยเฉพาะคณะสาวๆ ซิลเวอร์เอจ จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำทีมโดย ท่านรองฯ อัจฉราพร พากันช้อปกระจายรายได้สู่ชุมชนเกือบแทบทุกร้าน 

นอกจากนี้บริเวณ ตลาดน้ำประชารัฐ บางใบไม้ ยังมีบริการล่องเรือท่องเที่ยว โดยกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ พาสัมผัสวิถีความงามตามธรรมชาติ ชีวิตริมน้ำคลองร้อยสาย ชมวิวธรรมชาติอันสวยงาม ร่มรื่น ที่ชาวบางใบไม้ ร่วมใจอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบบ้านสวนริมลำคลองสายเล็ก ที่สายน้ำไหลลงแม่น้ำตาปี คลองเล็กคลองน้อยนับร้อยคลองที่นี่ ได้รับการเรียกขานว่า “คลองร้อยสาย” และด้วยพื้นที่นี้อยู่ใกล้ปากอ่าวบ้านดอน ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ มีทั้งน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำทะเลหนุน และน้ำจืด ไหลวนเวียนอยู่แบบนี้ตลอดปี

คณะเราได้ล่องเรือไปตามลำคลองเข้าออกหลายสาย ตลอดสองริมฝังคลองที่ล่องผ่าน เห็นแนวชายฝั่งเต็มไปด้วยดงต้นจาก และต้นมะพร้าวปลูกเรียงราย บ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันเป็นระยะ และสังเกตได้ว่าบ้านแต่ละหลังมีท่าจอดเรือ และมีเรือจอดเทียบท่าแทบทุกหลัง จึงทำให้รู้ว่าชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้การเดินทางโดยเรืออยู่เช่นเดิม แม้จะมีถนนตัดผ่านแล้วก็ตาม บ้านบางหลังสร้างเอาไว้ให้นกนางแอ่นอยู่อาศัยอีกด้วย นกเศรษฐกิจแบบนี้มาอาศัยอยู่ในชุมชนได้ยังไง นี่จึงเป็นอีกดัชนีวัดคุณภาพของสภาพแวดล้อม และคุณภาพของแหล่งน้ำที่ยอดเยี่ยมได้อีกด้วย ที่ชุมชนบางใบไม้แห่งนี้ จึงได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชนที่มีความผูกพันกับสายน้ำ ให้คนต่างถิ่นได้สัมผัสบรรยากาศบริสุทธิ์ ที่ชาวชุมชนร่วมมือร่วมใจรักษาและหวงแหน และจุดหมายของเราที่ต้องไปให้เห็นด้วยตา ว่าจะสวยงามอย่างภาพถ่ายในปฏิทินของ ททท. ขนาดไหน นั่นคือ “อุโมงค์ต้นจาก” ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็มาถึงจุดเช็คอิน ดงต้นจากที่เติบโตตามธรรมชาติอย่างหนาแน่นเขียวครึ้ม โค้งเข้าหากันทั้งสองฟากฝั่งราวดั่งอุโมงค์ให้เราลอดผ่าน แม้แต่แสงแดดยังทะลุสู่ผืนน้ำได้เฉพาะช่วง สวยงามอลังการ ตื่นตาตื่นใจ แล้วเราก็ได้ภาพสวยไม่ต่างจากภาพในปฏิทินเลยทีเดียว

ก่อนเปลี่ยนบรรยากาศไปสู่พลังแห่งศรัทธา เรามารองท้องในมื้อสำคัญกันก่อน ที่ กินดีมีสุข-KindeeMeesuk Cafe & Restaurant ร้านอาหารคาเฟ่น้องใหม่ ในตำบลบางใบไม้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา อาหารสไตล์ฟิวชั่นหลากเมนู รับประทานแกล้มผักสดปลอดสารพิษจากไร่ ตกแต่งจัดจานสวยงามสุดบรรจง มีรายละเอียดใส่ใจอย่างมีสไตล์ นำดอกไม้ ใบไม้ มาโยงใยสร้างเรื่องราวเติมเสน่ห์ดึงดูดให้น่ารับประทาน เดคคอเรชั่นนี่ต้องยกนิ้วให้เลยทีเดียว แถมรสชาตินั้นก็เยี่ยมยอด สดใหม่ สะอาด ขนมหวาน เครื่องดื่ม ล้วนเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ เปิดให้บริการทุกวัน 10.00 – 21.00 น.

จากธรรมชาติป่าชุมชน สู่ป่าแห่งธรรม ณ วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลารามเป็นสถานที่เหมาะสำหรับผู้แสวงหาความสงบทางจิตใจ อารามที่ฝึกอบรมขัดเกลาจิตใจ และได้ศึกษาพุทธศาสนา ทุกอณูบริเวณสามารถเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้ได้การยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ

ภายในวัดปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป เมื่อก้าวเข้าสู่เขตธรรมสถานของสวนป่าอันร่มรื่น ได้ยินเสียงของธรรมชาติชัด ต้นไม้สูงใหญ่โปร่งตา เต็มไปด้วยคติธรรมคำสอนนำทางเป็นระยะๆ บริเวณ ลานหินโค้ง หินก้อนใหญ่บนลานดินกระจายรอบบริเวณ เป็นที่ประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ และผู้มาปฏิบัติธรรมฝึกนั่งสมาธิ และใช้เป็นที่นั่งฟังธรรมใต้ร่มไม้สูงใหญ่ เดินต่อไปผ่าน ‘ธรรมนาวา’ อาคารอเนกประสงค์ รูปทรงแบบเรือแฝงคติธรรมอิงกับพุทธปรัชญา นาวาแห่งธรรมนำสรรพสัตว์ข้ามห้วงแห่งทุกข์ ‘สระนาฬิเกร์’ เกาะเล็กๆ ที่มีมะพร้าวต้นเดียวกลางสระกลางสระ ศิลปะการสอนธรรมะอีกทางหนึ่งว่า นิพพานนั้นอยู่ท่ามกลางวัฏฏะ เมื่อเดินขึ้น ‘โบสถ์บนเขาพุทธทอง’ ระหว่างทางขึ้นจะเห็น ‘กุฏิท่านพุทธทาส’ และเมื่อถึง ‘ลานกลางแจ้งบนเขาพุทธทอง’ พบองค์พระพุทธรูปอยู่ท่ามกลางลานโอบล้อมด้วยป่า ธรรมชาติโดยรอบเปรียบเสมือนอาคารของโบสถ์ มีเสาปักไว้โดยรอบกำหนดเขตเพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรม

เมื่อมาสู่ทางลงซ้ายมือคือ ‘โรงมหรสพทางวิญญาณ’ สถานที่ศึกษาธรรมะด้วยรูปภาพ หรือ สตูดิโอธรรม ภายในอาคารประกอบด้วยพุทธศิลป์ ปูนปั้น ภาพพุทธประวัติ บนกวี ภาพจำลองจากภาพหินสลัก คติธรรมคำสอนในพุทธศาสนานิกายต่างๆ และเรื่องราวพุทธประวัติในอินเดีย เป็นดั่งปริศนาธรรมอันล้ำค่า โดยท่านพุทธทาสได้นำแนวคิดจากภาพในถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย มาเป็นตัวช่วยให้คนหันมาสนใจในพุทธศาสนาอย่างเข้าถึงง่าย และที่นี่ยังมีการสอนฝึกสมาธิสำหรับทั้งคนไทยและต่างประเทศอีกด้วย

เราเดินทางต่อยัง วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ปูชนียสถานวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่เคารพบูชาของชาวภาคใต้ และชาวไทยพุทธทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลชีวิตชาวเรา “ซิลเวอร์เอจ” จะพลาดได้ไง ก้าวผ่านประตูสู่ลานภายในกำแพงแก้ว พบองค์พระพุทธรูปศิลาทรายแดงปางมารวิชัย สามองค์พี่น้อง ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง สร้างในสมัยอยุธยาโดยฝีมือสกุลช่างไชยา ให้ได้กราบนมัสการก่อนเดินเข้าสู่ภายใน พระวิหารหลวง มีรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่หลายองค์ เงียบสงบจะเห็นผู้คนมากราบสักการะและนั่งสมาธิกัน ส่วนด้านหลังพระวิหารหลวง จะเป็นบริเวณระเบียงคด ล้อมรอบองค์พระบรมธาตุไชยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายแดงปางต่างๆ รวม 180 องค์

จากข้อมูลหลักฐาน วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นวัดเก่าแก่ที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานหลายยุคสมัย ตั้งแต่อาณาจักรทราวดีจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองของอาณาจักรต่างๆ ผ่านกาลเวลา องค์เจดีย์พระมหาธาตุเป็นพุทธสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ดวงตราประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย

 

ก่อนปิดทริป 2 วัน 1 คืน “ชนบทที่รัก ณ ชุมชนลีเล็ด เที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ จ.สุราษฎร์ธานี” ได้ความอิ่มอกอิ่มใจครบรส เที่ยว ชิม ช้อป สัมผัสห้องเรียนธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ จนไปถึงได้สักการะพระคู่บ้านคู่เมือง เยือนถิ่นพุทธศาสนาอันเก่าแก่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคติธรรมเพื่อนำไปปรับใช้ให้ชีวิตมีความสุข พร้อมทั้งมิตรภาพใหม่ที่สวยงาม

 

ที่มาของโครงการ “ชนบทที่รัก”

ท่านรองฯ อัจฉราพร พงษ์ฉวี รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวนำร่องทริปนี้ กล่าวว่า “สำหรับเรื่องท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเราทำมานานแล้ว โดยมีแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มจากของดีของชุมชน เพื่อดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวเยอะๆ และมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวซ้ำ เราได้มีการพัฒนาชุมชนไปเรื่อยๆ จากเดิม 10 ชุมชน จนกลายเป็น 200 กว่าชุมชน ซึ่งปีนี้เรามีการคัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพ จำนวน 16 ชุมชน ที่มีความพร้อมและนำมาพัฒนาต่อ ซึ่งจริงแล้วการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมนั้น มีหลายระดับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อปีที่แล้วเรามีการทำโครงการท่องเที่ยวระดับเยาวชนต่างประเทศ ให้ได้ท่องเที่ยวสัมผัสวีถีชีวิต และวัฒนธรรมชุมชนไทยในภาคกลาง ในโครงการ Thailand Village Academy Season 1 สำหรับปีนี้เราก็มาเน้นกลุ่มเป้าหมายซิลเวอร์เอจ เป็นกลุ่มที่สูงอายุขึ้นมาหน่อย เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง เป็นวัยที่เริ่มเกษียณอายุ และพร้อมที่อยากจะเดินทางท่องเที่ยวอย่างอิสระ เราจึงสร้างสรรค์โปรแกรมท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มซิลเวอร์เอจ ภายใต้แคมเปญ “ชนบทที่รัก” ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว ที่ต่างเล็งเห็นคุณค่าของความเป็นชุมชนในประเทศไทย ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ชุมชน เคาว์เจอร์และความเชื่อต่างๆ” 

 

เกณฑ์การคัดเลือกชุมชน

ท่านรองฯ อัจฉราพร กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกชุมชน “สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกชุมชน เลือกจากชุมชนที่มีความพร้อมที่สุดที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ และต้องมีประสบการณ์การทำงานบริการด้านท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบอันจะย้อนกลับไปสู่ชุมชนหากไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร และต้องเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีความเชื่อ มีวัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ อย่างทริปท่องเที่ยวชุมชนลีเล็ด สุราษฎร์ธานีนี้ กลุ่มอาชีพเสริมที่ทำกะปิ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของทางจังหวัด สิ่งที่พวกเราได้สัมผัสกันวันนี้ เค้าใช้ไม้เหลาบางๆ นำไปขัดกะปิจนเกิดปฏิกริยาน้ำกะปิที่มีกลิ่นหอม นี่ล่ะมันคือเสน่ห์ คือมรดกภูมิปัญญา คืออัตลักษณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด นี่คือเสน่ห์ที่เราพยายามดึงขึ้นมา และให้ความสำคัญเน้นสิ่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคัดเลือกด้วยเช่นกัน อันที่จริงในเมืองไทยมีชุมชนอยู่มากมายทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมและอยากให้เราเข้าไปสนับสนุน แต่ในการเริ่มโครงการเราคัดเลือกจำนวน 16 ชุมชนก่อน” 

ท่านรองอัจฉราพร ยังกล่าวเสริมอีกว่า “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เรามีมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 6 ด้าน ตั้งแต่เรื่องเครื่องแต่งกาย ภาษา การแสดง ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ โดยแต่ละภูมิภาคแต่ละท้องถิ่นในประเทศ มีความแตกต่างกันออกไป ตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อันมีความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ เพียงนำมาเล่าเรื่องใหม่ ผ่านขบวนการท่องเที่ยวอย่างน่าสนใจ และนำมาขยายผลในช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทั้ง 16 ชุมชนที่คัดเลือกมาจากทั่วประเทศนั้น จึงมีความหลากหลายและมีจุดเด่น มีความเชื่อที่เล่าเรื่องได้ การสื่อสารออกไปจึงยิ่งน่าสนใจ ชุมชนเหล่านี้ ไม่ได้ผ่านแค่การคัดเลือกอย่างเดียว แต่ผ่านการโหวตโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้วยการเสนอชื่อขึ้นมาแล้วคัดเลือกให้ได้จำนวน 16 ชุมชนก่อน ทั้งนี้เพื่อสามารถควบคุมในเรื่องคุณภาพ โดยมีการปรับปรุงตั้งแต่โปรแกรมท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การเที่ยวของกลุ่มซิลเวอร์เอจ ที่สามารถเลือกโปรแกรมที่เที่ยวได้ตามชอบใจ รวมถึงพัฒนาเรื่องที่พักโฮมสเตย์ ความสะอาด ความปลอดภัย แต่อยู่บนมาตราฐานในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ต้องกลมกลืนไปกับวิถีชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้เหมาะกับกลุ่มที่เกษียณตัวเองจากหน้าที่การงานบางส่วน ที่พร้อมจะออกเดินทางท่องโลกกว้าง ชอบเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ไปแบบช้าๆ ไม่รีบ และค่อยๆ ซึบซับ จึงเกิดเป็นโครงการสานต่อ Thailand Village Academy Season 2 ซึ่งทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะเน้นเรื่องของคอนเทนส์ ส่วน ททท. จะเน้นเรื่องการตลาด รวมถึงไปถึงภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย” 

 

พฤติกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่ม “ซิลเวอร์เอจ”

ท่านรองฯ นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมถึงพฤติกรรมกลุ่มซิลเวอร์เอจ “โดยเฉพาะปัจจุบันพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะนักท่องเที่ยวเจน X หรือเจน Y หรือแม้แต่กลุ่มซิลเวอร์เอจ 50+ ซึ่งเราคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะพาเขาไปสู่การท่องเที่ยวแบบชุมชนเชิงวัฒนธรรม 16 ชุมชนนี้ โปรแกรมที่เราเลือกน่าจะตอบโจทย์คาแร็กเตอร์ของกลุ่มซิลเวอร์เอจได้เป็นอย่างดี ในทุกความสนใจของกลุ่มนี้เราให้ความสำคัญและรีเสิร์ช ความนิยมบริโภคแบบไหน รวมถึงช่องทางการสื่อสารว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รับรู้ข่าวสารจากช่องทางไหน ชอบดูโทรทัศน์ หรือชอบอ่านบทความ ซึ่งเรากำลังโฟกัสไปที่กลุ่มซิลเวอร์เอล เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมาแล้วระดับหนึ่ง และชอบที่จะแลกเปลี่ยนไอเดียรวมถึงประสบการณ์โนว์ฮาว กับเพื่อนในวัยเดียวกัน อันนำไปสู่การพัฒนามิติใหม่ที่เป็นประโยชน์ซึ่งกัน และอีกพฤติกรรมของคนกลุ่มซิลเวอร์เอจ คือจะรู้สึกโหยหาอดีต ไม่เคยเห็นวิธีทำกะปิแบบโบราณอย่างทริปนี้ พอได้มาเห็นเกิดการเรียนรู้พูดคุยแลกเปลี่ยน รู้สึกสนุกไปกับการได้ลงมือทำไปพร้อมคนชุมชน สุดท้ายมันก็จะกลับมาในเรื่องของอีโคโนมีแน่นอน” 

ท่านรองฯ นพดล ภาคพรต กล่าวเสริมอีกว่า “กลุ่มแม่บ้าน หรือซิลเวอร์เอจ จะสนใจท่องเที่ยวแบบเนิบช้าเที่ยวกินชิม และชอบถ่ายรูป ซึ่งก็แล้วแต่ระดับความสนใจในแต่ละกิจกรรมของแต่ละคน แรงจูงใจในการสื่อสารผ่านวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ช่องทางที่ตรงกับ Target ผลที่ได้กลับได้รับความสนใจในวงกว้าง นำมาสู่มิติของการกระตุ้นการเดินทางตามรอย เกิดการซื้อและการกระจายรายได้ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวที่มีคุณลูก เด็กรุ่นใหม่เมื่อได้มาร่วมทริปกับครอบครัว และได้เข้าถึงความแตกต่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน อย่างเช่นทริปนี้ นึกถึงเมนูน้ำพริกกระปิแสนอร่อย แต่กว่าจะมาเป็นกะปิแบบนี้ได้ ต้องผ่านกระบวนการมาอย่างไร และพวกเขาก็กลับไปสื่อสารต่อในวิธีของเขา เกิดความภูมิใจในภูมิปัญญาของคนชุมชน และช้อปไปฝากครอบครัวของเพื่อน ซึ่งไม่ว่ากลุ่มไหนก็เป็นกำลังสำคัญหมด แต่วันนี้เราพยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนลงไปที่กลุ่มซิลเวอร์เอจ เพื่อให้เกิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ และเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน” 

 

เสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชน 

“ถวิลหาอดีต และการแชร์แลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกัน สกิลหรือภูมิปัญญาจะถูกถ่ายทอดจากการพุดคุย และประสบการณ์จากการลงมือทำจริง เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม อย่างวันนี้ได้ลงมือทำหลายอย่าง ความรู้สึกเป็นกันเองเหมือนมาเที่ยวเยี่ยมเยียนบ้านเพื่อน ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันจะแนบแน่นและใกล้ชิดไปเองโดยอัตโนมัติ ด้วยอัธยาศัยคนไทยที่มีความเอื้ออาทรต่อกันเป็นพื้นฐาน และโดยปกติการจะเข้าถึงชุมชนแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ใช่จากการนำร่องท่องเที่ยว อันเกิดมาจากสองหน่วยงานหลัก ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ และ ‘ททท.’ และสมาพันธ์โรงแรม รวมถึงเหล่าพันธมิตรท่องเที่ยว ให้เราได้มีโอกาสสัมผัสลึกซึ้งถึงการท่องเที่ยวลักษณะนี้ และตอนนี้เราเริ่มดีไซน์โปรแกรมท่องเที่ยวแบบนี้เยอะขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชนแบบไพรเวท ทั้งแบบกลุ่ม 10 คน และแบบ 2-3 คน โดยใช้ไอทีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบทูเวย์ ที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ และซาบซึ้งกับการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น” ท่านรองฯ นพดล กล่าว

 

ท่องเที่ยววิถีใหม่

“หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น รูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่เรียก New Normal ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป เกิดความไว้ใจเลือกที่จะท่องเที่ยวด้วยกันภายในครอบครัวมากขึ้น นิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ขับรถไปเองในระยะทางไม่ไกลมากนัก หรือมาเช่ารถขับเองในพื้นที่ หรือข้ามจังหวัดที่ใกล้ๆ ททท. มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเดินทางแบบนี้ในช่วงนี้เป็นลักษณะคลัสเตอร์ ซึ่งในหนึ่งภาคมีมากกว่าหนึ่งคลัสเตอร์ แรกเริ่มในตอนนี้เราท่องเที่ยวกันในคลัสเตอร์ก่อน ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกมั่นใจปลอดภัยวางใจการเที่ยวแบบบรรทัดฐานใหม่ New norm” ท่านรองฯ นพดล กล่าวต่อ

 

การ์ดไม่ตก 

“กระบวนการสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยว ทั้งด้านผู้ประกอบการชุมชน และนักท่องเที่ยว เราทุกคนต้องรักตัวเอง และรักประเทศชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่องจากเราเป็นต้นเหตุ หรือเราไปรับเชื้อมา ดังนั้นการที่เราควรปกป้องตัวเองเสมอไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ทำความสะอาดมือบ่อยๆ อย่างน้อย 20 วินาทีขึ้นไป รวมถึงการสวมใส่หน้ากากยังคงสำคัญ”

 

ท่องเที่ยว ‘ชนบทที่รัก’ กัน

“ชนบทที่รัก เป็นโครงการดีๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับ ททท. และอีกหลายหน่วยงาน ที่สร้างสรรค์โปรแกรมท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวกลุ่มซิลเวอร์เอจ ได้มาเรียนรู้ประสบการณ์อันแตกต่างร่วมกัน สัมผัสในอีกมุมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ที่เราหยิบมาในวันนี้ 16 ชุมชน มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป ในขณะที่เรายังท่องเที่ยวไกลๆ อย่างต่างประเทศกันไม่ได้ ให้เราได้หันกลับมาเรียนรู้ในเชิงคุณค่าของความเป็นไทยของประเทศไทย จากชุมชนชนบทที่รักของเรา ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีมรดกมีภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก ผู้คนตกงานและลำบาก ในขณะที่แต่ละชุมชนสามารถต่อยอดมรดกที่มีอยู่ในท้องถิ่นในตัวเอง นำมาสร้างให้เกิดรายได้ให้อยู่ได้ในยุคนี้ โดยใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ชุมชน และนักท่องเที่ยวก็ได้รับความสุขความประทับใจกลับบ้าน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันได้อย่างดี และยังเป็นการช่วยกระตุ้นช่วยเศรษฐกิจประเทศชาติอีกด้วย ออกมาเที่ยวกันนะครับ” 

 

สามารถติดตามรายละเอียดโปรแกรมท่องเที่ยวทั้ง 16 เส้นทาง “ชนบทที่รัก” และจองทริปได้แล้ววันนี้ ที่ www.ชนบทที่รัก.com

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด