TOP

เทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ ก้าวต่อไปของภาคเกษตรไทยในยุค 4.0

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญ และเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยในแต่ละภูมิภาคมีสัดส่วนของภาคเกษตรเฉลี่ยสูงกว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับภูมิภาค (Gross Regional Product: GRP) นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีความผูกพันกับการเกษตร สะท้อนจากแรงงานส่วนใหญ่ในภูมิภาคกว่า 40% ยึดเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้ของภาคเกษตรขยายตัวได้เพียง 4.2% ซึ่งลดลงกว่าเท่าตัวจากทศวรรษก่อนหน้า ประกอบกับผลิตภาพทุนที่อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และผลิตภาพแรงงานที่ลดลง สะท้อนว่าภาคเกษตรไทยเติบโตได้ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยปัจจัยที่ฉุดรั้งมาจากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ เทคโนโลยีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม พื้นที่ปลูกต่อรายมีขนาดเล็ก และพื้นที่ที่เข้าถึงชลประทานมีสัดส่วนน้อย และปัจจัยเชิงวัฏจักร อาทิ ราคาพืชผลตกต่ำ ภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นต้น แล้วภาคเกษตรของไทยจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

 

ตอบโจทย์ความท้าทายของภาคเกษตรไทย

ด้วยเทคโนโลยี

มองไปข้างหน้า ภาคเกษตรยังต้องเตรียมพร้อมรับมือ กับกระแสการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก โดยเฉพาะในประเด็นสังคมสูงวัย ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังแรงงานในภาคเกษตร ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (technology advancement) ซึ่งโควิด 19 จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและรุนแรงขึ้น และจะยิ่งซ้ำเติมความท้าทายที่มีอยู่เดิม ดังนั้นเกษตรกรไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ เนื่องจากการทำการเกษตรรูปแบบเดิม อาจไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่อีกต่อไป ซึ่งความรู้ความเข้าใจที่เท่าทัน และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร จะเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกและเอื้อให้เกษตรกรไทย สามารถปรับตัวไปสู่ยุค 4.0 ได้

เศรษฐกิจติดดิน จึงขอยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตร ที่ได้จาก “โครงการนำร่องส่งเสริมการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ (Social Lab)” ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันของ 5 หน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กรมการข้าว, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), บริษัท คิว บ็อกซ์พอยท์ จำกัด, บริษัท สฤก จำกัด และ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีระยะเวลาโครงการ 1 ปี (มกราคม – ธันวาคม 2564) ในพื้นที่นำร่อง (sandbox) 4 จังหวัด คือ ชัยนาท ขอนแก่น พิจิตร และร้อยเอ็ด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย อันจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจการเงินในภาพรวมมีความแข็งแกร่ง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

เทคโนโลยีการจัดการฟาร์มสมัยใหม่

ในโครงการนำร่อง “Social Lab”

ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยเผชิญกับข้อจำกัดในการเพาะปลูกข้าวหลายประการ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโดยใช้วิธีดั้งเดิมตามที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งอาจทำให้ได้ผลผลิตน้อยและมีต้นทุนสูง นอกจากนี้ เกษตรกรไทยยังไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี แม้ว่าหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้พยายามวางรากฐานและส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาครัฐ ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเป็นหลัก อาทิ การสร้างฐานข้อมูลรายแปลงเกษตรกร (Thailand Agriculture Mobile Information: TAMIS) การสร้างข้อมูลดาวเทียมเพื่อการเกษตร (GIS – Agro) และการจัดทำแผนที่เพื่อบริหารจัดการเกษตร (Agri – Map) ขณะที่ภาคเอกชนนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบโจทย์ที่เฉพาะด้านมากขึ้น อาทิ การใช้ข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อวางแผนการเพาะปลูก การใช้เซนเซอร์เพื่อติดตามและวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการสำรวจระยะไกลเพื่อใช้วัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และกลุ่มที่ปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้น โครงการนำร่อง Social Lab จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยจุดประกายให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขยายวงไปสู่กลุ่มชาวนา ที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ โครงการนำร่อง Social Lab จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวตามหลักวิชาการ โดยนำเอาเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ที่สร้างขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก (Farm Book) บนสมาร์ทโฟน มาประยุกต์ใช้ในการบันทึกข้อมูลแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิตข้าว

แอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก (Farm Book) ประกอบด้วย ฟาร์มทูเดย์ (Farm Today) สำหรับเกษตรกรใช้งาน และ ฟาร์มสกาย (Farm Sky) สำหรับหัวหน้ากลุ่มและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จำกัด โดยมุ่งเน้นให้ (1) เกษตรกรได้วางแผนล่วงหน้าและบริหารเวลาทำงานของตนเองได้ รวมทั้ง (2) หัวหน้ากลุ่มและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการเพาะปลูกได้อย่างสม่ำเสมอ ผ่านแอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และได้ทดลองใช้แอปพลิเคชัน ตลอดจนได้รับองค์ความรู้ในการเพาะปลูกข้าวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนได้ ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง Social Lab จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม และส่วนที่สองจะเป็นการเพาะปลูกรูปแบบใหม่ตามหลักการวิชาการ เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้จากการปลูกข้าวทั้งสองรูปแบบ

หลักการทำงานของแอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก ในโครงการนำร่อง Social Lab จะช่วยชาวนาในการลดต้นทุนการใช้ปัจจัยการผลิต โดยในช่วงก่อนการเพาะปลูก ระบบกำหนดให้ชาวนาต้องบันทึกข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการทำนา ลงในแอปพลิเคชัน เช่น ขนาดพื้นที่ ลักษณะการทำนาว่าเป็นนาน้ำฝน หรือนาในเขตชลประทาน วาดขอบแปลงนา ระบุที่ตั้งด้วย GPS และผลการตรวจสภาพดิน หลังจากนั้นระบบในแอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก จะช่วยคำนวณขนาดพื้นที่นาทั้งหมด รวมทั้งสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่ หรือเรามักได้ยินในชื่อว่า “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่ไม่ใช่สูตรตายตัวที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักซื้อตามร้าน หรือตามสูตรที่คนขายแนะนำ ซึ่งบางครั้งอาจไม่เหมาะกับสภาพดิน ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ข้อมูลถูกจัดเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ ช่วยให้สามารถบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในช่วงการเก็บเกี่ยวได้ด้วย เช่น ในกรณีชาวนารายย่อยสามารถรวมกลุ่มกัน ในการเช่ารถไถและรถเกี่ยวในคราวเดียว ช่วยประหยัดต้นทุนในส่วนนี้ได้ นอกจากนี้แอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก ยังช่วยให้ชาวนาบริหารจัดการนาได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากแอปพลิเคชันจะช่วยบอกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ย ตรวจแมลง พ่นยา ควบคุมปริมาณน้ำในนา และการตัดข้าวปน ตลอดระหว่างการเพาะปลูก ตั้งแต่การลงกล้า แตกกอ ออกดอก โน้มรวง จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพอากาศในแต่ละช่วง ซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดการฟาร์มในขั้นตอนดังกล่าวด้วย ซึ่งหากระหว่างทางผลผลิตเสียหาย เช่น ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม เกษตรกรจะบันทึกความเสียหายที่ตนเองคาดการณ์ลงในระบบ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาดูแลให้คำแนะนำได้ทันการ สำหรับช่วงหลังการเก็บเกี่ยว แอปพลิเคชันจะช่วยแจ้งเวลาที่เหมาะสมในการไถ กลบฟาง หมักดินให้ย่อยสลายตามแนวทางของเกษตรสีเขียว ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพดินและระบบนิเวศในระยะยาว สร้างความยั่งยืนต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชน

 

ยิ่งไปกว่านั้น แอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก ยังช่วยบริหารจัดการผลผลิตกับความต้องการของตลาด จากหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรที่สามารถติดตามการทำงานของเกษตรกรภายในกลุ่มของตนเองได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันนี้ และสามารถเปรียบเทียบต้นทุนในแต่ละพื้นที่ คาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น เพื่อวางแผนการผลิตของสมาชิกทั้งกลุ่ม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโครงการนำร่อง Social Lab ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือหลัก ช่วยให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ในจังหวัดนำร่อง ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อทดลองใช้แอปพลิเคชันฟาร์มบุ๊ก สำหรับการเตรียมการเพาะปลูก รอบการผลิตรุ่นฝนที่กำลังจะมาถึง แม้ระยะนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มของโครงการ แต่สิ่งที่พบคือ ชาวนาจำนวนไม่น้อยเริ่มมีความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาผู้สูงวัย ที่มีความตั้งใจเรียนรู้การใช้งานของแอปพลิเคชัน โดยมีลูกหลานหรือชาวนาวัยหนุ่มสาวมาคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ รับไม้ต่อจากเจ้าหน้าที่กระจายสู่ชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่ายังมีความท้าทายอีกหลายประการในภาคเกษตร ที่ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว อาทิ ความคุ้นเคยในการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือของเกษตรกรรุ่นเดิม ที่ต้องอาศัยเวลาค่อนข้างมากในการเรียนรู้ และการช่วยประคับประคองให้เกษตรกรอยู่ร่วมตลอดโครงการ เพื่อเห็นผลการทดลองเชิงประจักษ์ ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม ไปสู่การบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ได้ในระยะยาว รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่ที่ยังแตกต่างกันค่อนข้างมากเลยทีเดียว

 

3 ปัจจัย…สู่ก้าวต่อไป เพื่อภาคเกษตรไทยที่ยั่งยืน

แม้โครงการนำร่อง Social Lab ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด แต่นับว่าเป็นตัวอย่างของจุดเริ่มต้นที่ดี ในการให้เกษตรกรได้ทดลองใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน และต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ในโครงการนำร่อง Social Lab สามารถสรุปได้ว่า การผลักดันภาคเกษตรไทยให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับไปสู่ยุคเกษตร 4.0 ให้สำเร็จและยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการ คือ (1) การเปิดใจเรียนรู้และพร้อมปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปรับตัว (2) การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่เกษตรกรต้องการแล้ว การพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความช่วยเหลือและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเข้าใจและแก้ไขปัญหา ตลอดจนการหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และแรงบันดาลใจในการพัฒนาต่อยอดการยกระดับภาคเกษตรด้วยตนเองต่อไป และ (3) ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งการบูรณาการความพร้อมให้กับภาคเกษตรของทุกภาคส่วน จะเป็นแรงประสานที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดัน ให้การยกระดับภาคเกษตรไทย เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุด ปัจจัยข้างต้นทั้ง 3 ประการจะเป็นส่วนผสมสำคัญ ที่ช่วยให้การยกระดับภาคเกษตรไทยประสบความสำเร็จ และก้าวสู่ยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวมเข้มแข็ง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

——————————————————————

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม Magazine

ที่มา : BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 4 ประจำเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด