TOP

Thailand and Japan ART BRUT นิทรรศการความงามนิรนาม ถ่ายทอดความดิบลึกจากจิตใต้สำนึกมนุษย์

“ศิลปะ ART BRUT กำลังได้รับความสนใจ และเผยแพร่สู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวาง

ภายใต้การส่งเสริมสวัสดิการด้านสังคมของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ

ศิลปะจึงมิได้ทำหน้าที่เพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ศิลปะยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างกลมกลืน” 

รศ.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ประธานกรรมการมูลนิธิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

“บางครั้งความรู้ในเชิงทฤษฎีที่ผมเคยรู้ มันก็มากเกินกว่าที่จะสร้างงานศิลปะที่มีคุณภาพ

ผมค้นพบว่า หลายครั้งเราควรปลดปล่อยให้ความเป็นมนุษย์ ช่วยสร้างงานศิลปะด้วย…”

คุณสืบแสง แสงวชิระภิบาล (ภัณฑารักษ์)

 

 “ผมใช้เวลามากกว่า 10 ปี เก็บรวบรวมรักษาผลงาน ART BRUT ในประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งเป็นทั้งผลงานศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีการใช้สีสันอันน่าทึ่งเพื่อแสดงตัวตน

มิสเตอร์โยชิตากะ คาซาฮาระ ประธาน Non – Profit Organization Haretari Kumottari

(ART BRUT) คือ ศิลปะที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินนอกกระแสนิยม อาทิ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาผ่านสถาบันศิลปะ และผู้สูงอายุ อันถือกำเนิดราวปี ค.ศ.1945 โดย ศิลปิน ฌอง ดูบุฟเฟต์ (Jean Dubuffet) ที่เคยเป็นศิลปินช่วงศตวรรษที่ 20 ในช่วงนั้นศิลปินที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปะ จะได้รับการมองว่าเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุด Dubuffet ได้มาพบกับการสร้างผลงานศิลปะ ของผู้ที่มีความต้องการพิเศษทางด้านจิตเวช จึงเริ่มใช้เวลาศึกษาการแสดงออกทางศิลปะ ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชหลายแห่ง ศิลปะในความหมายของ Dubuffet ไม่ใช่แค่สิ่งที่นักวิชาการคิดถึงศิลปะกระแสหลัก หากแต่เป็น ความจริงใจต่อจิตใต้สำนึก ความผิดพลาดของความคิด ความไร้เดียงสาต่อการแสดงออก ซึ่งเป็นก้าวแรกของโลกศิลปะที่สร้างจากมือมนุษย์

 

สิ่งที่ Dubuffet ชอบไม่ใช่ศิลปะที่สูงส่ง แต่เป็นความรู้สึกที่แท้จริง การที่เค้าเองเป็นผู้คิดค้น ART BRUT ทำให้แนวคิดศิลปะเกิดความท้าทายต่อสังคม และเกิดคำถามขึ้นมาว่า ศิลปะคืออะไร และใครเป็นเจ้าของศิลปะ ซึ่งยังเป็นที่สงสัยจนถึงทุกวันนี้ ประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาข้อมูลเกี่ยวกับ ART BRUT รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การส่งเสริมสวัสดิการด้านสังคมของรัฐบาล จากที่ผ่านมาและเพิ่มมากขึ้น ทำให้ ART BRUT และ ART BRUT ARTIST ของประเทศญี่ปุ่น สร้างชื่อเสียงอันปรากฏต่อสายตานานาประเทศ

 

ในส่วนของความร่วมมือ

โนมะ มิวเซียม (NO-MA Museum) ที่จังหวัดชิกะ ประเทศญี่ปุ่น ทำงานเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษอยู่เดิม (ART BRUT) เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ทางญี่ปุ่นเคยนำผลงานบางส่วนมาจัดแสดงในประเทศไทย แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของการทำงานร่วมกัน สำหรับงาน นิทรรศการ Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty ความงามนิรนาม ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภัณฑารักษ์ของทั้ง 2 ประเทศ (ญี่ปุ่น-ไทย) ภัณฑารักษ์ของไทย (อาจารย์ก้อง – คุณสืบแสง แสงวชิระภิบาล) ทำรีเซิร์ชแตกประเด็นว่าแต่ละประเทศมีมุมมองอย่างไร อย่างผลงานของผู้สร้างสรรค์ญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยทางจิตใจซะส่วนมาก ในมุมความคิดภัณฑรักษ์ของไทย คิดต่อไปว่าแล้วในประเทศไทยมีคนกี่ประเภทที่เข้าข่ายเช่นนี้ อาจจะรวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำด้วยหรือไม่! ที่พวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก แม้กระทั่งคนไร้บ้านที่สังคมไม่เคยนับเขาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลเหล่านี้มีศักยภาพในการสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง คุณภาพเทียบเท่างานศิลปะ เป็นได้ดั่งศิลปินเลยทีเดียว จุดร่วมที่สำคัญคือคนเหล่านี้ไม่ใช่อาร์ตเทรนนิ่ง ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ศิลปะ พวกเขาทำเพื่อตอบสนองและสื่อสารอะไรบางอย่าง เช่นผู้สร้างสรรค์ที่ชอบทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ อาจมีคำถามผุดขึ้นในความคิดใครหลายคน ว่างานชิ้นนั้นจะถูกมองเป็นงานอาร์ตได้หรือไม่ ซึ่งในความจริงมันแล้วแต่คนจะตีความกันไป ความงามมีคุณค่าอยู่ในตัวเองเสมอ และพวกเขาต้องการสื่อสารอะไร ซึ่งเราจะได้เห็นตัวอย่างจากงานนี้

ART BRUT มีลักษณะเด่นที่การสร้างสรรค์ผ่านอัตลักษณ์พิเศษ ความซื่อบริสุทธิ์ ความดิบ อิสรภาพ สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ และการไร้กฎเกณฑ์ นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือ การอ้างถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลบหนีจากสังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยอาศัยศักยภาพทางศิลปะในการแสดงออก ผ่านวัตถุประสงค์จำเพาะ ฌอง ดูบุฟเฟต์ กล่าวว่า “กลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจไม่พิจารณาตนเองเฉกเช่นเดียวกับศิลปิน และไม่กล่าวอ้างผลงานเหล่านั้นว่าเป็นศิลปะ ตนเองเป็นศูนย์กลางหรือการใช้สัญชาตญาณภายในเป็นสาระสำคัญ ในการพิจารณากระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอาร์ตบรูต”

 

นิทรรศการความงามนิรนาม (Thailand and Japan ART BRUT : Figure of Unknown Beauty) เป็นนิทรรศการอาร์ตบรูตขนาดใหญ่ ที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ร่วมกับ ประเทศญี่ปุ่น โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Agency for Cultural Affairs, Government of Japan International Exchange Program Executive Committee for Disabled People’s Culture and Arts และ มูลนิธิ เดอะเรนโบว์ รูม ประเทศไทย จัดแสดงงาน ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 3 พฤศจิกายน 2562

ผลงานหลากหลายรูปแบบ จากทั้งผู้สร้างสรรค์ชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ได้ถูกคัดสรรค์มาทำการแสดงครั้งนี้ จำนวน 51 ผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น งานจิตรกรรม, ประติมากรรม, เซรามิก, หรือ ภาพถ่าย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่

  1. “การทำซํ้า ความหนักแน่น และความกลมกลืน”
    นำเสนอประเด็น “ความดิบ” ที่สะท้อนลักษณะเฉพาะของผลงานอาร์ตบรูต คือความสดใหม่ และการแสดงออกที่หลั่งล้นออกมาจากภายใน
  2. “นานาสิ่งจากชีวิตประจำวัน”
    นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น จากวัสดุที่หาง่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความพิเศษในการสร้างสรรค์วัสดุเหล่านั้น
  3. “ความปรารถนา คือบ่อเกิดการสร้างสรรค์”
    นำเสนอความคิด และแรงปรารถนาของผู้สร้างสรรค์ผลงาน
  4. “ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์”
    นำเสนอเบื้องหลังการสร้างผลงานและความสัมพันธ์ ระหว่างผู้สร้างและคนรอบตัว เนื่องจากหลายครั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานอาร์ตบรูต ไม่ได้ตั้งใจเปิดเผยผลงานของตน ผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่โลกภายนอก จึงเป็นคนรอบตัวศิลปิน เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือผู้สนับสนุนการจัดแสดง หัวข้อนี้จึงมุ่งไปที่การสื่อสารระหว่างผู้สร้างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่ภายนอก
  5. “สู่มิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์” นำเสนอผลงานที่ศิลปินร่วมสมัย และผู้สร้างสรรค์ผลงานอาร์ตบรูต ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ

 

“สืบแสง แสงวชิระภิบาล” ภัณฑารักษ์คนดังแห่งหอศิลปกรุงเทพฯ และ เซนะ คิโมะโตะ ภัณฑารักษ์ ที่บินตรงจากญี่ปุ่น 2 บุคคลสำคัญ ได้ร่วมพูดคุย และแนะนำ 51 ผลงานของผู้สร้างสรรค์อันทรงคุณค่า โดยแต่ละผลงานมีเรื่องราว แฝงไว้ด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่ตรงไปตรงมากับความรู้สึก และแฝงไว้ด้วยพลัง AROUND ONLINE ขอนำบรรยากาศ และผลงานบางส่วนจากผู้สร้างสรรค์ทั้งชาวไทย และ ชาวญี่ปุ่น 

 

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน

โนริโกะ ฮิทะซึโมโตะ Noriko HIGASHIMOTO (ญี่ปุ่น)

ในหัวข้อ : การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน

โนริโกะ เป็นหญิงสาวพิเศษออทิสซึ่ม และเป็นผู้สร้างสรรค์ ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เธอชอบทำในทุกวัน ด้วยการจุดปากกาลงบนกระดาษ จุดโดยที่ไม่ได้มีความคิดอะไรเป็นพิเศษ ค่อยพัฒนาจากจุดที่หนึ่งไปจุดที่สอง สาม ไปต่อจนไม่มีกระดาษเหลือให้จุดต่อ เธอจึงหันไปเลือกเอา Air Bubble Wrap พลาสติกห่อกันกระแทกที่มีความยาวมากพอให้เธอได้จุดไปเรื่อย ม้วนแผ่นกันกระแทกขนาดใหญ่ ความยาว 25 เมตร เต็มไปด้วยจุดขนาดเล็กสีสันก่อตัวเป็นรูปทรงเรขาคณิตเต็มผืน ความพยายามนี้มีไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เธอได้ปลดปล่อย และมีความสุขกับการเลือกใช้สีสันเยอะๆ โดยปากกาที่ใช้จุดก็เป็นปากกามาร์กเกอร์คล้ายปากกาเมจิก ขณะที่เธอจุดเธอไม่เคยกางมันดูแบบเต็มผืน เมื่อเธอจุดจนพอใจก็ม้วนเก็บทันที ทำเช่นนี้ทุกวัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น สิ่งที่ทำไม่ได้ซับซ้อนไปกว่าการทำให้เธอรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ที่มีกิจกรรมแบบนี้ทำทุกวัน และแน่นอนมันทำให้เธอรู้สึกสนุก เธอถ่ายทอดความสุขผ่านสีสัน จนเป็นผลงานไฮไลท์ของงานเลยทีเดียว

 

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน

มาซาชิ คานาซากิ Masashi KANASAKI (ญี่ปุ่น)

ในหัวข้อ : การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน

ผลงานของ คานาซากิ สะท้อนลวดลายที่พาให้นึกถึงลายหินอ่อน หรือแผนที่ภูมิประเทศ ยากจะระบุได้ว่าเป็นการทำเลียนแบบสิ่งใดโดยเฉพาะ ผู้ที่เคยเห็นผลงานของคานาซากิ ล้วนสัมผัสได้ถึงพลังที่แฝงอยู่ภายใน ขณะเดียวกันก็รู้สึกฉงนกับลักษณะผลงานที่หาคำอธิบายไม่ได้ ผลงานของคานาซากิเกิดจากการนำกาวทาไม้ มาทาลงบนแผ่นใบปลิวและหน้านิตยสาร แบบซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้น ก่อนปิดท้ายด้วยการนำไปขัดกระดาษทราย เพื่อให้ได้พื้นผิวเรียบเนียน กระบวนการทำทั้งหมด ตั้งแต่การทากาวและขัดกระดาษทราย ล้วนใช้เวลาหลายชั่วโมง ผู้ดูแลคนหนึ่งได้เจอกับคานาซากิ ที่กำลังทำผลงานคอลลาจอยู่ และรู้สึกได้ถึงความพิเศษของผลงานนี้ หลังได้พูดคุยกัน คานาซากิจึงเริ่มสร้างผลงานในลักษณะนี้เรื่อยมา โดยผลงานมีความพิเศษและมีเอกลักษณ์มากขึ้นทุกปี

 

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน

พีรพัฒน์ อัครพัฒน์ (ไทย)

ในหัวข้อ : ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์

เจ้าของแกลอรี่ Art on Street ณ ตลาดนัดสวนจตุจักร พีรพัฒน์ (บ็อบบี้) ช่วงวัยรุ่นเขาตามความฝันไปใช้ชีวิตในประเทศออสเตรเลีย นานถึง 8 ปี หลังจากกลับสู่แผ่นดินเกิดประเทศไทย เพื่อประกอบอาชีพขายเครื่องประดับ เขาได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยตัวเอง ประกอบกับการคลุกคลีในสังคมศิลปะ ณ สวนจตุจักร ผลงานจิตรกรรมพุทธปรัชญา หรือการแสดงความเคารพ ศรัทธาต่อศิลปะ และพุทธศาสนา ผ่านการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากกรอบการครอบงำทางทฤษฎีศิลปะ ได้ดึงดูดให้ศิลปินศิลปะชื่อดัง “คามิน เลิศชัยประเสริฐ” ผู้ก่อตั้ง 31st Century Museum of Contemporary Spirit สนใจแนวคิดการทำงานศิลปะของบ็อบบี้ ที่แตกต่างไปจากศิลปินอาชีพโดยทั่วไป หากแต่มุ่งเน้นที่จิตใจมนุษย์ ซึ่งหาได้ยากนักในหมู่ศิลปินอาชีพ แม้หากผลงานที่ตั้งใจสร้างสรรค์ไม่สามารถขายได้ บ็อบบี้ก็ยังคงใช้หัวใจสร้างสรรค์ผลงานต่อไป คามิน รู้สึกประทับใจความจริงใจของเขาในครั้งหนึ่ง ที่เห็นผลงานสร้างสรรค์ ในข้อความ “คุยถูกใจให้ฟรี” เป็นที่มาของการสะสมผลงานสองชิ้นของบ็อบบี้ ในโครงการศิลปะสะสม 31st Century Museum of Contemporary Spirit ผลงานจิตรกรรมอันแสดงความดิบ และความซื่อปรากฏเด่นชัด ผ่านมิติของเส้น ความไม่สมดุล ทีท่า และ ฝีแปรงที่ไร้กรอบกฏเกณฑ์ ผลงานของบ็อบบี้ จึงมีอัตลักษณ์และอรรถรสในผลงานอย่างพิเศษ

 

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน

มาดี บุญชื่น (ไทย)

หัวข้อ : ความปรารถนาคือบ่อเกิดความสร้างสรรค์

มาดี (โชค) เป็นที่รู้จักในแวดวงคนทำงานศิลปะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากอาชีพการรับจ้างขนส่งผลงานศิลปะให้กับที่ต่างๆ โชคจึงได้เห็นผลงานศิลปะมากมาย เขาได้คิดค้นวิธีการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยตัวเอง แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในสถานศึกษาศิลปะมาก่อน เขาเพียงจุดประกายความคิดตัวเองวาดๆ เขียนๆ บันทึกเรื่องราวการเดินทางของตัวเอง รวมถึงระบายความรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ลงบนกระดาษ ด้วยความคิดที่ว่าดีกว่าการไปมีเรื่องกระทบกระทั่ง ภาพวาดของโชค แสดงสภาวะการหลุดพ้นจากพันธนาการโลกแห่งความจริง สู่ความเป็นโลกคู่ขนาน ทั้งจินตนาการและช่วงเวลาปัจจุบัน ผลงานศิลปะของโชคมีความหลากหลายทางอารมณ์ระคนกัน ทั้งอารมณ์ขัน การประชดประชัน กระทั่งสถานการณ์ของโลกเหนือความจริง ตลอดจนการถวิลหาอดีต และสภาวะแวดล้อมชนบทที่เขาคุ้นเคย และหลายครั้งต้องการให้ภาพวาดเป็นดั่งสุภาษิตสอนใจ กระตุกความคิด ปรากฎเป็นอัตลักษณ์เฉพาะทั้งรูปแบบ องค์ประกอบ การใช้สี ลายเส้น โชคมักให้ตนเองเป็นพระเอกในหัวข้อต่างๆ (Subject) ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อาทิ ภาพตนเองเปลือยเปล่า ข้าวของเครื่องใช้หุงหาอาหาร พันธ์ุพืช บ้านไม้ชนบท ประกอบกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่พบเห็น กระทั่งภาพศิลปินแก้ผ้าเปลือยเปล่าในสถานการณ์ต่างๆ หรือท่าทางที่ขบขัน ช่วงเวลาว่างจากการส่งผลงานศิลปะ หรือระหว่างรอรับผลงานจากศิลปิน โชค มักจะใช้ช่วงเวลาไปกับการสร้างสรรค์ผลงานวาดเส้น และการร่างภาพจิตรกรรมในระยะเวลาอันสั้น

 

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน

ผู้ต้องขัง จากเรือนจำพิเศษธนบุรี 

อาจารย์ก้อง – สืบแสง แสงวชิระภิบาล ได้คัดเลือกผลงานจากผู้ต้องขัง จำนวน 6 คน นำมาจัดแสดง ผลงานได้ถูกถ่ายทอดในมิติของความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ผ่านภาพเขียนอย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งแตกต่างจากตัวพวกเขาที่ถูกจำกัดอยู่ในสถานคุมขัง ในช่วงเวลาที่ไร้การติดต่อสื่อสารจากโลกภายนอก ซึ่งภายในเรือนจำมีหลักสูตรการเรียนการสอนฝึกวิชาชีพ พัฒนาความคิดและฝีมือในแขนงต่างๆ ที่ผู้ถูกคุมขังสนใจตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็น ช่างเขียน ช่างวาดภาพ ช่างปั่น โดยมีอาจารย์จากสถาบันศิลปะมาทำการสอน เมื่อสร้างสรรค์ผลงานได้ก็จะนำไปต่อยอดการขาย นำเงินที่ได้รับกลับมาช่วยพัฒนาอาชีพให้เขาเหล่านั้นได้มีชีวิตใหม่ การวาดไม่เป้นเพียงแค่การขีดๆ เขียนๆ เท่านั้น หากแต่สามารถช่วยบรรเทาความเครียด กดดัน ความกลัว ปรับให้อยู่ในโหมดของการระบายออก ถ่ายทอดความคิดความรู้สึก จิตวิญญาณลงบนกระดาษหรือเฟรมผ้าใบ ให้ความสงบนิ่งเป็นเครื่องมือเยียวยา พาไปสู่โหมดของการฝึกสติสมาธิ ถือได้ว่าเป็นวิธีที่สร้างสรรค์ และวัดผลได้จริงจากสถิติผู้ต้องขังที่เรียนวิชาชีพช่างศิลป์ ยังผลให้การกระทำผิดซ้ำๆ เกิดขึ้นน้อยลงมาก ทางเรือนจำพิเศษธนบุรียังจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ ผู้ต้องขังให้มีอาชีพ ภายหลังจากได้รับอิสรภาพ และติดตามวัดผลพัฒนาการของผู้เคยกระทำความผิดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

กิจกรรมประกอบนิทรรศการ ความงามนิรนาม

 

วันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2562

เวลา : 16.15 – 18.45 น.

สถานที่ : ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ

การแสดง Salsa Gum Tape & Zuiho Taiko |  การแสดง Zuiho Taiko

การแสดง Salsa Gum Tape & Zuiho Taiko

วงดนตรีร็อคแอนด์โรลสัญชาติญี่ปุ่น เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบริการสังคมในจังหวัดคานางาวะ จากวงดนตรีสมัครเล่น พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นวงดนตรีอาชีพ ด้วยการออกซิงเกิลเพลงที่แต่งเอง ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีสไตล์ไม่เหมือนใคร ทั้งยังได้ร่วมงานกับมือกลองที่มีชื่อเสียง อย่าง Tetsuya Kajiwara ซึ่งกลายมาเป็นมือกลองประจำวง ร่วมพิสูจน์ความสำเร็จด้วยการแสดงสดทั้งในประเทศญี่ปุ่น และหลายประเทศทั่วโลก มาร่วมสนุกไปกับดนตรีที่เต็มไปด้วยความรักของพวกเขาที่จะทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นหัวใจ

 

การแสดง Zuiho Taiko

Zuiho Taiko เดิมก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ภายใต้ชื่อ Wadaiko Club กลุ่มตีกลองสำหรับผู้ซึ่งมีความบกพร่องทางปัญญา จากนั้นในปี 2001 Zuiho Taiko ก็ได้เกิดขึ้นเพื่อสานต่อความหวังของเหล่าสมาชิก ที่ใฝ่ฝันถึงการเป็นนักตีกลองมืออาชีพ การตีกลองทำให้พวกเขาสามารถแสดงอารมณ์ และถ่ายทอดตัวตนผ่านจังหวะดนตรีออกมาได้อย่างเต็มที่ พวกเขาได้เปิดทำการแสดงมากกว่า 100 ครั้งต่อปี ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลก ขอเชิญร่วมสัมผัสถึงเสียงและพลังจากกลองของพวกเขาที่จะเข้าไปถึงใจผู้ฟังทุก ๆ คน

วันที่ 2 สิงหาคม 2562
กิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง “Creation from the Obscure”
เวลา : 18.30 น. – 20.00 น.
สถานที่ : ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5

ร่วมสัมผัสจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุด ของศิลปินที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง จนได้รับการยอมรับนับถือทั้งในตัวตนและผลงาน กลายมาเป็นที่รู้จักกันในนาม “อาร์ตบรูต” (Art Brut) ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของ มาริเอะ ซูซูกิ (Marie Suzuki) ศิลปินผู้รังสรรค์งานศิลปะเพื่อจรรโลงจิตใจตนเอง และได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินอาร์ตบรูต ซึ่งนอกจากเธอแล้วยังมีศิลปินที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเองจำนวนมาก ที่ได้รับการยอมรับ และได้ร่วมแสดงนิทรรศการผลงานอาร์ตบรูตจากประเทศญี่ปุ่น ในเมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศส

 

 

วันที่ 3 สิงหาคม 2562

กิจกรรมนำชมนิทรรศการ “ความงามนิรนาม”

เวลา : 14.00 น. – 16.00 น.

สถานที่ : ห้องนิทรรศการชั้น 8

นำชมนิทรรศการ “ความงามนิรนาม” (Thailand and Japan Art Brut : Figure of Unknown Beauty) โดยภัณฑารักษ์ เซนะ คิโมะโตะ และ สืบแสง แสงวชิระภิบาล เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงานในการนำเสนอศิลปะ “อาร์ตบรูต” (Art Brut) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่การสร้างสรรค์ผ่านอัตลักษณ์พิเศษ เช่น ความซื่อบริสุทธิ์ ความดิบ อิสรภาพ สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ และการไร้กฎเกณฑ์ นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือ การอ้างถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลบหนีจากสังคม และวัฒนธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยอาศัยศักยภาพทางศิลปะในการแสดงออกผ่านวัตถุประสงค์จำเพาะ

 

ติดตามนิทรรศการความงามนิรนาม
ระหว่างวันที่ : 19 กรกฎาคม – 3 พฤศจิกายน 2562
สถานที่ : ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (หอศิลปกรุงเทพฯ) เลขที่ 939 ถนนพระราม 1 สี่แยกปทุมวันกรุงเทพฯ 10330
เวลาทําการ : 10:00 น. – 21:00 น. (ทุกวันยกเว้นวันจันทร์)

โทรศัพท์ : 02 214 6630 โทรสาร 02 214 6639
ช่องทางติดตามข่าวสาร : www.bacc.or.th | www.facebook.com/baccpage

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด