TOP

ความเชื่อเรื่องพลีกรรมตักน้ำ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แหล่งน้ำที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ล้วนเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องผ่านขั้นตอนตามโบราณราชประเพณี ซึ่งตามความเชื่อของพราหมณ์คือน้ำที่ทำให้เกิดสิริมงคลทั้งน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก

น้ำที่จะนำมาใช้เป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามโบราณราชประเพณีที่มีมาแต่อดีต ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่ว่าน้ำทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล จึงมีความสำคัญต่อพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งจะใช้น้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 สระของ จ.สุพรรณบุรี และแม่น้ำ 5 สายสำคัญของประเทศไทย ที่เรียกว่าเบญจสุทธคงคา

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ อธิบายว่า พิธีพลีกรรมตักน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีตักหรือขอแบ่งน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำไปประกอบพิธีต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

คำว่า พลีน้ำ คือขออนุญาตตักน้ำขึ้นมา แบ่งมาในส่วนน้อยเพื่อทำพิธีขอพรให้เป็นสิริมงคล และนำเข้าไปในวัด โบสถ์ สำคัญในจังหวัดนั้นๆ เพื่อประกอบพิธีมังคลาภิเษก พุทธาภิเษก

 

วิธีการคัดเลือกแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในส่วนน้ำสรง “พระมุรธาภิเษก” ประกอบด้วย น้ำจากเบญจสุทธคงคา ทั้ง 5 สายและน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ ของ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งใช้มาตั้งแต่อดีต

ส่วนน้ำอภิเษกที่ประกอบด้วย น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก ซึ่งแต่ละแหล่งก็มักจะเกี่ยวข้องกับประวัติและความเชื่อของแต่ละจังหวัด

โบราณจะใช้น้ำบริสุทธิ์ จะเป็นท่า บ่อ หรือสระก็ตาม เราเลือกมาแล้วก็จะไปพลีน้ำมา เพราะฉะนั้นในการเลือกก็ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์และตำนาน

 

หลังจากพลีกรรมตักน้ำในวันที่ 6 เมษายน 2562 แล้ว น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำเข้าประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ โดยจะทำพิธีพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 8-9 เมษายน 2562 ส่วนวันที่ 18 เมษายน 2562 จะมีการทำพิธีเสกน้ำอภิเษก ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร และจะเชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายน 2562 นี้

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด