TOP

วันพิเศษ! 29 กุมภาพันธ์ 4 ปีมีครั้ง

ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ โลก ดวงดาว สุริยจักรวาล มีความสัมพันธ์โดยตรงกับทุกชีวิตบนโลกใบนี้จริงๆ เคยสงสัยกันมั๊ย? ทำไมเดือนกุมภาพันธ์ ในบางปี ถึงมี 29 วัน และรู้หรือไม่ว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วันบนปฏิทิน จะเวียนมาทุกๆ 4 ปี นี่มั้งที่ทำให้คนเกิดวันนี้ต้องวงกลมโตๆ บนปฏิทินด้วยความตื่นเต้น เพราะต้องรอถึง 4 ปีเพื่อที่จะได้ฉลองวันคล้ายวันเกิดตัวเอง และปีนี้ ปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563 เป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน จากปกติมี 28 วัน แล้วทำไมกันเดือนกุมภาพันธ์ จึงมีเพียง 28 วันในปีปกติ และมี 29 วันทุก 4 ปี ซึ่งเราจะเรียกปีที่มีเดือนกุมภาพันธ์ 29 วัน นั้นว่า ปีอธิกสุรทิน หมายถึง ปีที่มีวันเพิ่ม 1 วัน หรือ 366 วันในปีนั้น

 

คนยุคโบราณนับวันเดือนปี

ด้วยดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์

เมื่อย้อนกลับไป คนยุคโบราณใช้ดวงดาวบนท้องฟ้า เป็นตัวกำหนดนับวันเดือนปี อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน หัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เคยให้ข้อมูลกับเด็กนักเรียนที่ทำโครงการค้นคว้าเรื่องการดูเวลาของคนสมัยก่อน ไว้ว่า…เริ่มต้นย้อนอดีตการกำเนิดปฏิทินโลก และเล่าต่อว่า เดิมทีมนุษย์ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณ แต่เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่รบกวนวิถีชีวิตปกติ ทำให้มนุษย์เริ่มสังเกตสิ่งรอบตัว รวมทั้งท้องฟ้า และดวงดาว กระทั่งพบว่าบางครั้งภัยธรรมชาติมาพร้อมกับดาวบางดวงบนฟ้า จึงเริ่มสนใจสิ่งที่อยู่บนฟ้า และนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา มีทั้งที่ตรงบ้างและไม่ตรงบ้าง แต่สิ่งที่ตรงตามการคาดคะเนก็ถูกจดจำต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งเรียนรู้ธรรมชาติที่อยู่บนท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ แม้กระทั่งการครบรอบของดวงจันทร์ข้างขึ้น ข้างแรม

 

ในยุคเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว คนในสมัยนั้นเริ่มใช้ดวงจันทร์เป็นเครื่องกำหนดนับ ช่วงระยะเวลาที่ปัจจุบันเราเรียกว่า “เดือน” ง่ายกว่าการสังเกตดวงอาทิตย์ ที่บอกช่วงเวลายาวนานเป็นรอบปี โดยมีชาวบาบิโลเนียเป็นชนชาติแรก เริ่มกำหนดนับวันโดยวัดระยะเชิงมุมของดวงอาทิตย์ ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่ไปประมาณ 1 องศา และครบรอบ 360 องศา ในระยะเวลา 1 ปี

 

และเมื่อ 4,000 ปีก่อน ชาวอียิปต์โบราณใช้ปฏิทินจันทรคติสังเกตดาว “ซิริอุส” (Sirius) ดวงดาวที่สุกสว่างสุดบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน ที่คนยุคนั้นใช้แทนเครื่องบอกเวลา เช่น หากเมื่อใดเห็นดาวซิริอุสอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แสดงว่าแม่น้าไนล์จะเริ่มเอ่อล้น และเป็นเวลาเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก แต่หากช่วงไหนดาวซิริอุสบนฟ้าขึ้นยามค่าคืน แสดงว่าช่วงนั้นคือฤดูร้อน กระทั่งพบว่า ทุกๆ 4 ปี ดาวซิริอุสจะปรากฏในตำแหน่งเดิมช้าไป 1 วัน ทำให้รู้ว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบนั้น ใช้เวลา 365 วัน กับอีก 1/4 วัน

 

จึงได้นำมาปรับใช้กับปฏิทินจันทรคติ (นับตามข้างขึ้นข้างแรม) ส่วนปฏิทินของชาวมายาได้ชื่อว่าเป็นปฏิทินที่มีความละเอียดสูงมากกว่าอารยธรรมอื่นๆ เพราะใช้ทั้ง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์ และดาวศุกร์ เป็นเครื่องกำหนดเวลา และปฏิทินของชาวมายายังมีหลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น ปฏิทินสาหรับการประกอบพิธีกรรม, ปฏิทินการปกครอง และ ปฏิทินทางศาสนา แต่หลักๆ ใช้ปฏิทินที่มีลักษณะเป็นวงกลมหลายๆ วงซ้อนกัน มีรายละเอียดสูง และมีการแบ่งช่วงเวลาเป็นยุคสมัยต่างๆ รวมแล้วเป็นระยะเวลา 5,126 ปี ซึ่งปฏิทินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีที่มาจากปฏิทินของชาวโรมันเมื่อประมาณเกือบ 800 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นปฏิทินแบบสุริยคติ “ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar)” ซึ่งยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นหลักแทน

 

ไม่มีเดือน มกราคม และ กุมภาพันธ์ ในปฎิทินโบราณ

กษัตริย์โรมันในยุคแรกกำหนดให้ปฏิทินมี 10 เดือน สันนิษฐานว่าอิงตามเลขฐาน 10 โดยให้เดือน มีนาคม (March) เป็น เดือน 1 ทั้งนี้ เพราะชาวโรมันให้ความเคารพ “มาร์ส” (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามมากเป็นพิเศษ และในแต่ละเดือนจะมี 30 หรือ 31 วัน สลับกันไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปฏิทินจันทรคติ สมัยนั้นเรียกชื่อเดือนต่างๆ Martius 31 วัน (มี.ค), Aprilis 30 วัน (เม.ย), Maius 31 วัน (พ.ค), Junius 30 วัน (มิ.ย), Quintilis 31 วัน (ก.ค), Sextilis 31 วัน (ส.ค), September 30 วัน (ก.ย), October 31 วัน (ต.ค), November 30 วัน (พ.ย) และ December 31 วัน (ธ.ค) ซึ่ง “ปฏิทินโรมัน” (The Roman Calendar) ในยุคนั้น 1 ปี มีทั้งหมด 304 วัน

 

จุดเปลี่ยน! เพิ่มเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์

จุดเปลี่ยนครั้งแรกเริ่มต้นที่สมัยของ “จูเลียส ซีซาร์” ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คนใหม่ของอาณาจักรโรมัน ซึ่งมองเห็นว่าปฏิทินแบบจันทรคติที่เคยใช้อยู่ ซึ่งนับเดือนตามข้างขึ้น-ข้างแรมนั้น ยังมีความคลาดเคลื่อนด้วยมีปัจจัยอื่นตามธรรมชาติที่มีผลด้วยเช่นกัน พระองค์จึงริเริ่มให้เปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar)” ซึ่งยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นหลักแทน ทำให้ 1 ปีมีวันเพิ่มขึ้นจากเดิม และเป็นเหตุของการเพิ่มเดือนใหม่เข้าไปอีก 2 เดือน คือ มกราคม 30 วัน และ เดือนกุมภาพันธ์ ที่มี 29 วันในปีปกติ และ 30 วัน ในรอบ 4 ปี (ปีอธิกสุรทิน) สลับกันไป

 

“ปีอธิกสุรทิน”

เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินจูเลียน โดยการนับเดือนจากการที่ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ภายใน 1 ปี ใช้เวลา 365.25224 วัน หรือประมาณ 365 วัน กับอีก 1/4 วัน หรือเทียบเป็น 6 ชั่วโมง ซึ่งเศษ 1/4 วัน หรือ 6 ชั่วโมงนี้ เมื่อนำมารวมทบกันในระยะเวลา 4 ปี จะได้ 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงพอดี ดังนั้นจึงเป็นที่มาของทุกๆ 4 ปี จะมีวันเพิ่มขึ้น 1 วัน รวมทั้งปีของปีนั้นๆ จะมีวัน 366 วันนั่นเอง ซึ่งเศษที่เพิ่มมานั้นถูกจัดให้อยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเราเรียกปีแบบนี้ว่า “ปีอธิกสุรทิน” ซึ่งแปลว่า “ปีที่มีวันเกิน หรือเพิ่ม” นั่นเอง เพื่อให้ปีปฏิทินสอดคล้องกับปีดาราศาสตร์ หรือปีฤดูกาล ที่มีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้สอดคล้องกับปฏิทิน

 

29 กุมภาพันธ์ 4 ปี มีครั้ง

หลังจากที่ จูเลียส ซีซาร์ ได้กำหนดให้หนึ่งปีมี 12 เดือน ตามปฏิทินจูเลียนที่ใช้สืบต่อเรื่อยมา เดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วันในปีปกติ และ 30 วันในรอบ 4 ปีนั้น (ปีอธิกสุรทิน) จนถึงยุคของ ออกัสตุส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ลูกบุญธรรมของ จูเลียส ซีซาร์ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ปฏิทินจูเลียนก็มีการเปลี่ยนแปลง พระเจ้าออกัสตุส ซึ่งมีวันเกิดในเดือน Sextilis เปลี่ยนชื่อเดือนใหม่เรียกชื่อ August และเดิมทีเดือนนี้มีเพียง 30 วัน ซึ่งเป็นความเชื่อของยุคสมัยนั้นว่า การมีจำนวนวันเป็นเลขคู่ถือเป็นเดือนโชคร้าย พระองค์จึงดึงวันจากเดือนน้องใหม่ที่บรรจุในปฎิทิน อย่างกุมภาพันธ์ มาเติมเดือนสิงหาคม ให้มี 31 วัน ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ ที่เดิมมี 29 วัน ลดเหลือ 28 วัน และก็กลายเป็น 29 วันในปีอธิกสุรทิน ซึ่ง 4 ปี จึงเวียนมาถึง วันที่ 29 กุมภาพันธ์อีกครั้ง อย่างในปัจจุบันนั่นเอง

 

จากปฏิทินจูเลียน สู่ ปฏิทินเกรโกเรียน 

ในปีคริสตศักราช 1582 นายแพทย์คนหนึ่งพบว่าที่จริงแล้ว โลกใช้เวลาหมุนรอบดวงอาทิตย์ 365.2425 วัน ซึ่งช้ากว่า 365.25 ตามปฎิทินจูเลียน ที่ จูเลียส ซีซาร์ กำหนดไว้ อันจะทำให้หากใช้ปฏิทินจูเลียนไปถึง 134 ปี จะมีวันเพิ่มเกินออกมา 1 วัน จึงได้เสนอการปฏิรูปปฏิทินขึ้นใหม่เรียกว่า “ปฏิทินเกรโกเรียน” และมีการปรับใช้ในปีเดียวกัน โดย สมเด็จพระสันตปาปาเกรโกรีที่ 13 เป็นผู้ประกาศใช้ และปฏิทินเกรโกเรียนให้การปรับปรุงปฏิทินนี้มีผลย้อนหลัง โดยจำนวนวันหายไปสิบวัน และได้มีการปรับปรุงล่าสุด ในปี ค.ศ.1900 จากนั้นมายังไม่มีการปรับอีกเลย กล่าวคือปฏิทินจูเลียน และ เกรโกเรียน ในปัจจุบันเดินตรงกันแล้ว ปัจจุบันประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ และอีกนานาประเทศทั่วโลก ยึดใช้ปฏิทินเกรโกเรียนเป็นปฏิทินสากล รวมถึงประเทศไทยด้วย

ปีไหนเดือนกุมภาพันธ์จะมี 28 หรือ 29 วัน 

หลักการคำนวณง่ายว่าปีไหนเดือนกุมภาพันธ์จะมี 28 หรือ 29 วัน ให้ใช้ตัวเลขปีคริสตศักราชตั้ง แล้วหารด้วย 4 หากหารลงตัว ก็แสดงว่าปีนั้นเป็นอธิกสุรทิน มี 366 วัน ในปีนั้น เดือนกุมภาพันธ์จะมี 29 วัน

ใครที่มีวันเกิด 29 กุมภาพันธ์นี้ ถือได้่ว่าเป็นวันพิเศษสุดๆ 4 ปีมีครั้ง ดังนั้น จัดให้วันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองจุดพลุให้ตัวเอง เลี้ยงใหญ่กันไปเลยจ้า

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด