TOP

กทม. เร่งสร้าง กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ร่วมมือทุกมิติฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างมหานครสำหรับทุกคน

หลังจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 ข้อ ผนวกกับโครงการพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรียบร้อยแล้ว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้เร่งเครื่องผลักดันทุกนโยบายทันที พร้อมทำงานร่วมกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ กทม. ทุกคน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสำหรับทุกคน และมหานครแห่งเอเชีย

 

เน้นดูแลปัญหา “เส้นเลือดฝอย” ให้แข็งแรง

เพื่อคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการบริหาร กทม. เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ เปรียบได้กับการทำงานของเส้นเลือด 2 ระบบ คือ ระบบเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยโดยเส้นเลือดใหญ่ คือการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ส่วนเส้นเลือดฝอยเป็นการลงทุนกับสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว โดยทั้งสองระบบต้องทำงานสมดุลกัน เมืองจึงจะมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าการดูแลเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรงจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น

 

“นโยบายการบริหารเปรียบได้กับระบบต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ คล้ายกับร่างกายคน มีระบบเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นหลักอยู่ส่วนกลางและมีเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เรามีเส้นเลือดใหญ่เป็นการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่ในขณะที่เส้นเลือดฝอยที่เป็นท่อระบายน้ำตามชุมชนต่าง ๆ หลายแห่งอุดตัน ระบายน้ำไม่ได้ หรือเรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่กระจุกตัวในเขตเมืองชั้นใน ในขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและศูนย์สุขภาพชุมชนยังมีไม่เพียงพอและขาดแคลนบุคลากร เป็นต้น”

 

“ระบบเส้นเลือดฝอยที่มีปัญหา สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพของเส้นเลือดใหญ่ อีกทั้งการแก้ไขปัญหา ‘เส้นเลือดฝอย’ อาจไม่น่าตื่นเต้นเร้าใจเหมือนการก่อสร้างโครงการใหญ่ แต่ผลลัพธ์ที่สำคัญกว่าคือจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดและเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา ‘เส้นเลือดฝอย’ ของ กทม. คือความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และความตั้งใจจริง”

กทม. ประสานงานทุกภาคส่วน เกือบ 100 หน่วยงานร่วมพัฒนากรุงเทพฯ ในส่วนของการประสานความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ ถึงวันนี้ กทม. ร่วมมือกับภาครัฐอย่างน้อย 29 หน่วยงาน ภาคเอกชนอย่างน้อย 15 หน่วยงาน ภาคการศึกษาและวิจัยอย่างน้อย 8 หน่วยงาน ภาคประชาสังคมอย่างน้อย 5 หน่วยงาน และภาคการต่างประเทศอย่างน้อย 14 ประเทศ อาทิ การร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นต้น เพื่อให้ทุกโครงการมีความโปร่งใส โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมว่า

 

“ตัวอย่างนโยบาย ‘ปลูกต้นไม้ล้านต้น’ กทม. ตั้งเป้าว่าสิ้นปี 2565 จะได้ 1 ล้านต้น ขณะนี้ผ่านไป 1 เดือน ได้รับความร่วมมือ 1.3 ล้านต้นแล้ว คือได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างล้นหลาม สำหรับผู้ว่าฯ สัญจรก็เช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่การประสานงาน เพราะเวลาลงพื้นที่ติดตามงาน หากพบปัญหาอะไรก็จะประสานขอความช่วยเหลือแล้วก็ไปชุมชนต่อ โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ต้องลง 1 เขต เพราะฉะนั้น การลงพื้นที่ผู้ว่าฯ สัญจรจะครบ 50 เขต ในเร็ว ๆ นี้”

 

“อีกตัวอย่างคือ ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)’ ซึ่งเป็นการประสานงานเหมือนกัน โดยข้อมูลประจำเดือนมิถุนายน (วันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2565) มีคนกรุงเทพฯ รายงานปัญหาเฉลี่ย 2,025 เรื่อง/วัน แต่ข้อมูลก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นั้น มีการรายงานเล็กน้อยเท่านั้น ประมาณหลักพัน ซึ่ง กทม. ได้รับรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า นี่คือเรื่องดีที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนกำลังให้ความสนใจความเป็นไปของเมือง ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารายงานปัญหาไปแล้วจะได้รับการแก้ไข”

 

จับมือเครือข่ายตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนน ยกระดับความปลอดภัย

กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้มอบนโยบายแก่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้ความสำคัญในการลดจุดเสี่ยงและการแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่สำหรับจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 917 จุด แบ่งเป็นจุดเสี่ยงของสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา และสำนักงานเขต จำนวน 118 จุด จุดเสี่ยงเพิ่มเติมของสำนักงานเขต จำนวน 700 จุด และจุดเสี่ยงจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล จำนวน 99 จุด ซึ่งการดำเนินการเรื่องการประเมินความปลอดภัยทางถนน ตามมาตรฐานนานาชาติ (IRAP) ประกอบด้วย
1. กายภาพถนนปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยงอันตราย เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร ออกแบบและปรับปรุงถนนตามมาตรฐานนานาชาติ
2. ยานพาหนะที่ปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มรูปแบบการเดินทางทางเลือก มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
3. การจราจรและความเร็วปลอดภัย จัดลำดับขั้นตอน จัดการจราจรอัจฉริยะ จัดการความเร็วที่เหมาะสม
4. ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย ศูนย์ควบคุมเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดระบบเชื่อมโยงใบสั่งจราจร ศูนย์ฝึกอบรมการขับขี่ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน

 

กทม. ร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบขยะจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบขยะจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มมาในสมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและขอรับมาสานต่อ เพราะปัญหาขยะในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทาง วันนี้ กทม. ร่วมหารือกับ 30 องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดการขยะในกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ จัดหลักสูตรในโรงเรียนที่อยู่ใน กทม. โดยเริ่มจากโรงเรียนสังกัด กทม. ก่อน ทั้งการลดขยะ แยกขยะ การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย ซึ่งที่ผ่านมา การจัดเก็บขยะเน้นที่ปลายทางทั้งการฝังกลบหรือการเผา แต่ไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง ทำให้เกิดปัญหาการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ กทม. ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ร่วมกันคัดแยกขยะจากต้นทาง เพื่อนำไปจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเอกชนไม่ร่วมมือกับเราหรือไม่ไว้ใจ กทม. ก็ไม่มีทางทำสำเร็จได้ ที่ผ่านมา กทม. ใช้เงินจำนวนมากในการบริหารจัดการขยะแต่ยังไม่ยั่งยืน หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้ทุกอย่างยั่งยืนมากขึ้น”

 

“ดนตรีในสวน” กิจกรรมสร้างความสุข กระตุ้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ

สถานการณ์โรคโควิด 19 ทำให้กิจกรรม “ดนตรีในสวน” ห่างหายไปจากคนกรุงเทพฯ แต่วันนี้เทศกาลดนตรีในสวนกลับมา เพราะดนตรีจะช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างดีเยี่ยมช่วยให้เกิดความสุข ความบันเทิงใจ ส่งผลถึงสุขภาพใจที่ดีของทุกคน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สร้างเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี และยังเป็นอีกหนึ่งนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มุ่งสร้างเมืองให้เป็นพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง ให้ทุกคนมีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงศิลปินได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตนเอง นับจากวันนี้ กรุงเทพฯ จะมีกิจกรรมดนตรีในสวนทุกสัปดาห์ เนื่องจากได้รับผลตอบรับในทางที่ดี ไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายให้กับคนเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่สามารถค้าขายทำมาหากิน กระตุ้นเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนกรุงเทพฯ เพราะในพื้นที่จัดกิจกรรมได้เปิดให้ร้านค้าเข้ามาจำหน่ายสินค้า โดย กทม. วางเป้าหมายต่อไปให้กิจกรรมดนตรีในสวน เป็นเวทีให้ผู้พิการและเด็กพิเศษได้มาแสดงความสามารถทางดนตรีด้วย

 

“กรุงเทพกลางแปลง” เทศกาลฉายหนังกลางแปลง ฟื้นฟูเศรษฐกิจกรุงเทพฯ

เทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กทม. และภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ ชมรมกรุงเทพฯ น่าอยู่กว่าเดิม (Better Bangkok) เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรอยยิ้ม นำความสุข นำความหวังกลับมาให้คนกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากเทศกาลดนตรีในสวน โดยมีการฉายหนังกลางแปลงทั่วกรุงเทพฯ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ใน 10 สถานที่ รวมฉายหนังทั้งหมด 25 เรื่อง
ที่มีความหลากหลาย มีทั้งภาพยนตร์ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปัจจุบัน โดยเลือกให้เหมาะสมสอดคล้องกันกับพื้นที่ถ่ายทำและพื้นที่ฉาย รวมถึงให้เหมาะสมกับผู้ชมในละแวกนั้น ๆ และต้องเหมาะกับการรับชมทั้งครอบครัวได้ เพื่อฟื้นคืนความคึกคักให้กับเมือง ดึงศักยภาพพื้นที่ออกมาใช้งาน และสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์ต่อไปในอนาคต

 

BBKK Trail เส้นทางวิ่งดี ออกกำลังกาย = เดินได้ดี

กรุงเทพฯ มีเส้นทางวิ่งและเส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเชิงอนุรักษ์ เส้นทางเชิงวัฒนธรรม เส้นทางสำรวจเมือง เส้นทางออกกำลังกาย อย่างไรก็ดี เส้นทางเหล่านี้ยังไม่สามารถดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีอุปสรรคหลายด้าน เช่น ทางเท้าไม่สะดวกจึงไม่สามารถใช้สัญจรและวิ่ง ไม่มีห้องน้ำสาธารณะหรือจุดน้ำดื่มสาธารณะ ดังนั้น กทม. จึงพัฒนา Better Bangkok Trail (BBKK Trail) เพื่อสร้างเส้นทางวิ่ง เส้นทางออกกำลังกาย และเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในพื้นที่ โดยให้มีโครงสร้าง เช่น รวบรวมเส้นทางวิ่ง Trail ที่มีนักวิ่งใช้งานอยู่ สร้างจุดเด่นของเส้นทางด้วยการดึงจุดเด่นของพื้นที่ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนมาวิ่ง เช่น สถานที่สำคัญทาง
ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ และเรื่องราวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ปรับโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมสำหรับการเดินและวิ่ง ได้แก่ ทางเท้าเรียบโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง เพิ่มเติมไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย จุดน้ำดื่ม ห้องน้ำสาธารณะ พื้นที่ค้าขาย นอกจากนี้ทำการประชาสัมพันธ์เส้นทาง BBKK Trail พร้อมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยการติดตั้งแผนที่เส้นทางวิ่งในเส้นทาง จัดทำแผนที่เส้นทาง BBKK Trail ออนไลน์

 

เปิดพื้นที่สาธารณะ 7 แห่ง พื้นที่ทางเลือกเพื่อการแสดงความคิดเห็น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะ 7 แห่งเป็นพื้นที่ทางเลือกเพื่อให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นว่า “ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่สาธารณะให้ชุมนุม มองว่าเป็นบรรยากาศที่ดีเมื่อมีการกำหนดพื้นที่ มีการตรวจอาวุธ ทำให้รู้สึกว่าปลอดภัย ถือว่าเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน คือเราให้เกียรติว่านี่คือพื้นที่ของประชาชน ประชาชนก็ให้เกียรติเราด้วยการดูแลกิจกรรมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม ตำรวจก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างละมุนละม่อม ก็สบายใจกันขึ้น เพราะมีพื้นที่ควบคุมดูแลได้ ไม่ไปเบียดบังพื้นที่อื่น ๆ เราไม่ได้จำกัดโซนนิ่ง แค่เสนอทางเลือกให้การแสดงออก ถ้าใช้พื้นที่อื่นก็เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องไปขออนุญาต ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมขอความร่วมมือร่วมใจกัน ทุกคนมีเหตุผล ระบอบประชาธิปไตยต้องมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง สังคมที่เห็นเหมือนกันหมด น่ากลัว ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องการเมือง เรื่องสังคม ก็สามารถคุยได้ในพื้นที่ทางเลือกที่ กทม. จัดให้ครับ”

 

นโยบาย LGBTQ+ ในกรุงเทพฯ สนับสนุนความเท่าเทียมของทุกคน

นโยบายด้าน LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 ข้อ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และได้รับการยอมรับจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ซึ่งประชาชนจะได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (Gender Sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐของประชาชนประกาศยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมตอกย้ำการเป็นแลนด์มาร์กสนับสนุนความเท่าเทียมและความภูมิใจของทุกคน ด้วยการสนับสนุนกิจกรรม Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายน 2565 ที่มีการเนรมิตพื้นที่สีรุ้ง สร้างแรงบันดาลใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ อีกทั้งยังคึกคักด้วยสีสันการเดินขบวนรณรงค์ เพื่อเรียกร้องการยอมรับและความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มที่สื่อถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับภาครัฐในการยอมรับและเข้าใจถึงความหลากหลายที่ทัดเทียมกับภาคเอกชน และเครือข่ายต่าง ๆ สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสำหรับทุกคน ทุกเพศ

 

ผู้ว่าฯ สัญจร ลงพื้นที่ 50 เขตทุกวันอาทิตย์ รับฟังปัญหาประชาชน

โครงการ “ผู้ว่าฯ สัญจร” เป็นโครงการที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่เขตต่าง ๆ ทุกวันอาทิตย์ เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ รับฟังปัญหาจากสำนักงานเขต และพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2565 ในช่วงเช้ามีการปลูกต้นไม้ตามนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง” จากนั้นรับฟังแนวทางการดำเนินงานและปัญหาของสำนักงานเขต ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวย้ำว่า “นโยบายผู้ว่าฯ สัญจร เป็นนโยบายเพื่อรับฟังปัญหาเร่งด่วนของทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ โดยบางเรื่องต้องยอมรับว่า กทม. ขับเคลื่อนเองไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ก็ต้องเร่งประสานงานกับหน่วยงานอื่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของประชาชนชาวกรุงเทพฯ”

 

————————————————————————-

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS (กทม.สาร)

ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 283 (5/2565)

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด