TOP

กทม. เร่งสร้างคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน

การสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมเป็นแนวทางการพัฒนาคนควบคู่กับพัฒนาเมือง ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีนโยบายการทำงานโดยยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง และดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและความต้องการของผู้คนแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างความสุขให้ทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 ข้อ ภายใต้แนวคิด “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

 

สวัสดิการทั่วถึง สร้างเมืองแห่งความสุขสำหรับเด็ก

สวัสดิการทั่วถึงสำหรับเด็ก โดยเฉพาะสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิต เริ่มจากการเพิ่มค่าอาหารต่อหัวจาก 20 บาท เป็น 32 บาท และอุปกรณ์ศูนย์เด็กเล็ก จากเดิม 100 บาท เป็น 600 บาท สนับสนุนอาหารเช้า อาหารกลางวัน ชุดนักเรียน ผ้าอนามัยฟรี และลดการใส่เครื่องแบบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง Open Education เปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ในวิชาที่นักเรียนสนใจ อาทิ พัฒนาทักษะ Coding ตัดต่อวิดีโอ e-Sport และ Digital Marketing

พัฒนาพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา 54 แห่ง เพื่อเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา สร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพื้นที่เรียนสำหรับกลุ่มเด็กและเด็กเล็ก ประกอบด้วย ห้องสมุด บ้านหนังสือ ลานกีฬา ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศูนย์เยาวชน และสวนสาธารณะ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนและขยายผลอย่างจริงจัง สร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นกับอนาคตของชาติ

 

มอบสิทธิและโอกาสเพื่อคนไร้บ้าน กลุ่มเปราะบาง

การไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาเบื้องต้นของคนไร้บ้าน ที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เนื่องจากรายได้ต่ำ ต้องพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะ แต่คนไร้บ้านต้องไม่ไร้สิทธิ กทม. จึงได้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการคนไร้บ้าน โดยจัดให้มีจุด Drop-in 4 จุด เพื่อให้บริการตัดผม ซัก อบ อาบ ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการ ตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน ซึ่งจุด Drop-in ทั้ง 4 จุดจะช่วยให้ กทม. มีฐานข้อมูลคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น และอาจใช้ขยายผลสร้างเป็นศูนย์พัก (Safe Shelters) ที่ครบวงจรต่อไป

นอกจากนี้ การขาดที่อยู่ยังทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ กทม. จึงเร่งดำเนินการจัดที่อยู่อาศัยทั้งแบบอาศัยระยะยาวและแบบอาศัยชั่วคราว (บ้านพักคนละครึ่ง) ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านอาชีพ ช่วยหางานสร้างรายได้ สร้างความมั่นคง รวมถึงจัดระเบียบการแจกอาหาร อาทิ โครงการ Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกินจากร้านค้าร้านสะดวกซื้อ ที่ต้องการบริจาคให้กับกลุ่มเปราะบาง นำร่องใน 10 เขตพื้นที่ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการแบ่งปันความสุขอย่างทั่วถึง

 

สวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมของคนพิการ

การเข้าถึงสวัสดิการของคนพิการ กทม. ให้ความสำคัญในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของคนพิการเป็นสำคัญ จึงนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาสร้างฐานข้อมูลและสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ เช่น แอปพลิเคชัน LINE OA ‘Bangkok For ALL’ กรุงเทพเพื่อทุกคน และเร่งพัฒนา LINE Chatbot เมืองใจดี ให้มีศักยภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงสื่อเสียงเพื่อคนพิการทางสายตา สื่อความรู้เพื่อคนพิการทางการได้ยิน มีระบบร้องเรียนที่สะดวก ปรับปรุงทางเท้า ทางคมนาคม จัดรถรับส่งคนพิการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนพิการ

การพัฒนาโรงเรียนเรียนร่วมเป็นอีกหนึ่งนโยบายเพื่อให้เด็กได้เรียนร่วมกันใน 158 โรงเรียนของ กทม. นำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน สร้างหลักสูตรเรียนรวม และสร้างการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษให้มีโอกาสได้เรียนร่วมกับเด็กทั่วไปในโรงเรียนที่ตอบโจทย์ เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตไปจนถึงการพัฒนาสู่การประกอบอาชีพ

การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพคนพิการ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมไม่ควรละเลย กทม. มีการเปิดรับสมัครคนพิการเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ปัจจุบัน สนับสนุนการจ้างงานคนพิการไปแล้วกว่า 300 คน โดยอยู่ภายใต้การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความสะดวกและเนื้องานที่เหมาะสม โดยพัฒนาระบบ Live Chat Agent ให้คนพิการเป็นผู้ตอบแชต และในปีนี้ได้เปิดสอบบรรจุคนพิการเป็นข้าราชการ 11 อัตรา ในตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ นักจัดการงานทั่วไป นักวิชาการพัสดุ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสมัคร จึงเปิดรับสมัครแบบออนไลน์เท่านั้น 

 

มอบโอกาส สร้างรายได้ ด้วยการส่งเสริมอาชีพ

การฝึกอาชีพเป็นหัวใจของการทำให้คนที่ขาดรายได้มีโอกาสมีงานทำมากขึ้น รวมทั้งผลิตแรงงานที่ตอบโจทย์ตลาดโดยมีโรงเรียนฝึกอาชีพทั้ง 10 แห่ง เป็นดาวเด่นในการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้ฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในการเพิ่มหลักสูตรผู้ดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุ (Caregiver) เพื่อให้ผู้ที่มาฝึกอาชีพสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นพลังขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งความสุขสำหรับทุกคนต่อไป

 

เพราะ “คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” ยังเป็นความหวังของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ดังนั้น กทม. จึงเดินหน้าขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่าง ๆ มาโดยตลอด ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้มากขึ้น พร้อมกับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างเสมอภาคและยั่งยืน 

_______________________________________________

 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร)

ที่มาและภาพ: Bangkok News (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)

คลิกอ่านเพิ่มเติม BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)👉 ที่นี่

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด