TOP

Bangkok Health Zoning เปลี่ยนโฉมระบบสุขภาพ พร้อมดูแลคนกรุงเทพฯ

จาก Sandbox (การทดลอง) ระบบสุขภาพที่เป็นต้นแบบการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร (กทม.) อันเกิดจากการบูรณาการหน่วยบริการปฐมภูมิ ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชนเพื่อให้การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่เส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ เป็นไปได้ง่ายและทั่วถึง วันนี้ กทม. เดินหน้านโยบายเป็นรูปธรรมสู่การขยายผลจาก Sandbox เป็น Bangkok Health Zoning ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแบบบูรณาการ ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มโรคคนเมือง กลุ่มโรคทางเดินหายใจ รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ดูแลต่อเนื่อง รับฟังปัญหาจากภาคประชาชน และพัฒนาระบบบริการ

สำหรับ Bangkok Health Zoning เป็นความร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการอย่างมีมาตรฐาน ได้แก่ บทบาทของโรงพยาบาลแม่ข่าย ศูนย์บริการสาธารณสุขรวมถึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและเกิดการพัฒนางานอย่างมีคุณภาพทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ “ดุสิตโมเดล” ครอบคลุมเขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด โดยหลังทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพจากทั้งสองแห่งเกือบปี สามารถปรับโครงสร้างสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยจากเดิมที่ทำงานแยกส่วน ให้ทำงานร่วมกันด้วยเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบปฐมภูมิหรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่ายขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ก้าวต่อไปจึงเป็นการขยายผลระบบสุขภาพของ กทม. สู่ Bangkok Health Zoning ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯ 

 

ออกแบบ 7 โซนสุขภาพ Bangkok Health Zoning

กทม. แบ่งโซน Bangkok Health Zoning ออกเป็น 7 โซน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยโรงพยาบาลที่เป็น Zone Manager เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่สนับสนุนศูนย์บริการสาธารณสุขในทุก ๆ ด้าน ส่วนโรงพยาบาลที่เป็น Mentor Manager เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน และร้านขายยา ฯลฯ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือโดยโรงพยาบาลพี่เลี้ยง มีทั้งสังกัดมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลทหาร และโรงพยาบาลเอกชน ส่วนสุดท้าย Area Manager คือศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเส้นเลือดฝอยในระบบสาธารณสุขของ กทม. ได้แก่

โซนที่ 1 กรุงเทพตะวันตก Health Zone Manager : โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ | Mentor Manager : โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตทวีวัฒนา, เขตตลิ่งชัน, เขตบางแค, เขตภาษีเจริญ, เขตหนองแขม, เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน

โซนที่ 2 กรุงเทพฝั่งธนบุรี Health Zone Manager : โรงพยาบาลตากสิน | Mentor Manager : โรงพยาบาลศิริราช | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตบางกอกน้อย, เขตบางกอกใหญ่, เขตคลองสาน, เขตธนบุรี และเขตจอมทอง
โซนที่ 3 กรุงเทพใต้ Health Zone Manager : โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ | Mentor Manager : โรงพยาบาลเลิดสิน, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 18 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตปทุมวัน, เขตสาทร, เขตบางรัก, เขตวัฒนา, เขตคลองเตย, เขตพระโขนง, เขตยานนาวา, เขตบางคอแหลม, เขตราษฎร์บูรณะ และเขตทุ่งครุ
โซนที่ 4 กรุงเทพชั้นใน Health Zone Manager : วชิรพยาบาล | Mentor Manager – Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตบางซื่อ, เขตบางพลัด, เขตดุสิต และเขตพระนคร

โซนที่ 5 กรุงเทพกลาง Health Zone Manager : โรงพยาบาลกลาง | Mentor Manager : โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, เขตพญาไท, เขตราชเทวี, เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง
โซนที่ 6 กรุงเทพเหนือ Health Zone Manager : โรงพยาบาลกลาง | Mentor Manager : โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตดอนเมือง, เขตสายไหม, เขตหลักสี่, เขตบางเขน, เขตจตุจักร, เขตลาดพร้าว และเขตวังทองหลาง
โซนที่ 7 กรุงเทพตะวันออก Health Zone Manager : โรงพยาบาลสิรินธร | Mentor Manager : โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี | Area Manager : ศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเขตหนองจอก, เขตคลองสามวา, เขตมีนบุรี, เขตลาดกระบัง, เขตคันนายาว, เขตสะพานสูง, เขตประเวศ, เขตบางนา, เขตสวนหลวง, เขตบางกะปิ และเขตบึงกุ่ม

 

พัฒนา EMS Bangkok Health Zoning
ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

กทม. โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิด โครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร รูปแบบ EMS Bangkok Health Zoning เพื่อออกแบบและวางระบบการปฏิบัติงานให้เหมาะสม ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนหากเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ถือเป็นความท้าทายในการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกันปฏิรูปแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในกรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวไว้ในการประชุมเชิงวิชาการ Bangkok Health Zoning ครั้งที่ 2 ว่า

“หากทำระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง จะช่วยลดจำนวนคนไข้ที่ไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ให้น้อยลง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยหนึ่งอย่างที่ช่วยได้มากคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การใช้ระบบ Telemedicine ที่มีการใช้งานแล้ว พร้อมจุดแข็งใน 1 ปีที่ผ่านมา คือได้เริ่มทำ Sandbox ราชพิพัฒน์โมเดลและดุสิตโมเดล ก่อนนำมาขยายผลเป็น Bangkok Health Zoning ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินหรือรถ Motorlance ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เร็วขึ้น และการขยายเตียงโดยการนำเตียงผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อได้ว่า กทม. มาถูกทางและในแผนงานปีที่ 2 จะมีอีก 24 นโยบายที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขนั้นเข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย”

________________________________________________

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร) 

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 288

คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 288 ได้ ที่นี่

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด