TOP

ปอดของคนกรุงเทพฯ 3 สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมือง เติมชีวิตเมืองด้วยพื้นที่สีเขียว

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขับเคลื่อนนโยบายด้านมหานครสีเขียวอย่างเต็มกำลัง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยตั้งเป้าหมายในปี 2573 กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างสวนสาธารณะใหม่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตารางเมตร ต่อประชากร 1 คนตามเป้าหมายใน 8 ปีข้างหน้าแล้ว กทม. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเดิม เพื่อต่อยอดศักยภาพและสร้างความยั่งยืนในอนาคต และนี่คือ 3 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่า “ปอดของคนกรุงเทพฯ”

 

“สวนป่าเบญจกิติ”

พื้นที่กว่า 300 ไร่ สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ

(นำร่องปลูกต้นไม้ล้านต้น)

“สวนป่าเบญจกิติ” เป็นสวนสาธารณะที่พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้พักผ่อน ออกกำลังกายสูดอากาศบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ติดกับสวนเบญจกิติเดิมที่อยู่ริมถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเปิดให้บริการบางพื้นที่แล้ว ปัจจุบันสวนป่าเบญจกิติมีการพัฒนาต่อเนื่องในระยะที่ 2 และ 3 มีการเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่น้ำ เส้นทางออกกำลังกาย พื้นที่กิจกรรม และอาคารพิพิธภัณฑ์ สำหรับพื้นที่ธรรมชาติได้มีการเพิ่มต้นไม้ในโครงการกว่า 8,000 ต้น และพันธุ์ไม้หายากกว่า 350 ชนิด มีบึงรองรับน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร แลนด์มาร์กโดดเด่นของที่นี่ คือ เกาะต้นไม้กลางบึงน้ำจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวน เพื่อยกรากต้นไม้ให้สูงกว่าระดับน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำซึมเข้าสู่ดิน รากต้นไม้สามารถดูดซับน้ำ จึงเจริญเติบโตได้ดี พร้อมทั้งลดการระเหยของน้ำ และช่วยลดอุณหภูมิของพื้นที่โดยรอบได้อีกด้วย

นอกจากนี้ พื้นที่ออกกำลังกายเพื่อสายรักสุขภาพนั้น แบ่งเป็นเส้นทางเดิน เส้นทางวิ่ง เส้นทางจักรยาน โดยมีจุดเด่นที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่คือ สกายวอล์ก (Sky Walk) ทางเดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ให้ทุกคนได้ชมธรรมชาติจากมุมสูงเดินออกกำลังกายกาย ซึงเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมจากผู้คนที่แวะเวียนมาเดินเล่นในบริเวณนี้ สวนป่าเบญจกิติ จะเสร็จสมบูรณ์และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 แต่ปัจจุบันได้เปิดให้บริการในบางพื้นที่แล้ว สามารถใช้บริการได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 21.00 น. อีกทั้งสวนสาธารณะแห่งนี้ยังเชื่อมต่อกับสวนลุมพินีด้วยเส้นทาง “สะพานเขียว” หรือเส้นทางคนเดิน – ทางจักรยานลอยฟ้า ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เชื่อมต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้แก่คนกรุงเทพฯ ทุกคน

 

“100 ปี สวนลุมพินี” ปรับโฉมสู่สวนสาธารณะระดับโลก

สวนสาธารณะแห่งแรกของไทย “สวนลุมพินี” กำลังจะได้รับการแปลงโฉมครั้งใหญ่เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี ในปี 2568 เป็นสวนสาธารณะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของประเทศ เริ่มเปิดบริการในปี 2468 เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 360 ไร่ โอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ใหญ่อายุเก่าแก่ให้ความร่มรื่นอยู่ทั่วบริเวณ มีสระน้ำกว้างใหญ่ ดอกไม้นานาพันธุ์ สวนป่าและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในสวนลุมพินีเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในวันจันทร์ – ศุกร์ ประมาณ 10,000 คนต่อวัน และในวันเสาร์ – อาทิตย์ ประมาณ 15,000 คนต่อวัน ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District: CBD) ของกรุงเทพฯ ล้อมรอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ภายในมีลักษณะการใช้งานแบบอเนกประสงค์ และเป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ สมาคม ชมรมต่าง ๆ

การปรับปรุงครั้งนี้ดำเนินการตามแนวคิดในการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะทุกมิติ เพื่อครอบคลุมอัตลักษณ์ของเมือง 5 ด้าน คือ
1. คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ (History)
2. คุณภาพทางวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดง และแหล่งเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ (Cultural Integration)
3. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเมืองเพื่อตอบรับสภาวะโลกร้อน (Climate Action Park)

4. สร้างพื้นที่กิจกรรมที่ทันสมัย และหลากหลายเข้ากับยุคสมัย (Modern Recreation)
5. ตอบโจทย์การใช้งานตามมาตรฐานการออกแบบ หรือ Universal Design สามารถให้บริการได้ทุกส่วน (Inclusive for All) โดยแบ่งการปรับปรุงออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในสวนให้แล้วเสร็จ เช่น งานระบบท่อระบายน้ำและงานระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท่อระบายน้ำบางส่วนไม่เชื่อมกับทางระบายน้ำ รวมถึงปัญหาน้ำในบึงเน่าเสียอีกด้วย นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับปรุงงานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานปรับปรุงทางเดิน – วิ่ง และอาคารที่ทรุดโทรม
ช่วงที่ 2 การพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ช่วงที่ 3 การพัฒนาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ออกแบบและพัฒนาพื้นที่โดยได้รับความร่วมมือจากภูมิสถาปนิก ซึ่งมีผลงานออกแบบระดับโลกเป็นผู้เสนอแนวคิดการออกแบบ

 

“อุทยานสวนจตุจักร” เชื่อมต่อ 3 สวนสาธารณะกลางเมือง

กทม. ดำเนินโครงการปรับปรุงทางเชื่อมสวนสาธารณะ 3 แห่ง ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพื้นที่ 196 ไร่, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) มีพื้นที่ 375 ไร่ และสวนจตุจักร มีพื้นที่ 155 ไร่ ซึ่งเมื่อรวมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็น “อุทยานสวนจตุจักร” สวนสาธารณะขนาดใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด 726 ไร่ โดยมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางเดิน – วิ่ง และทางจักรยานภายในสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งให้เชื่อมต่อถึงกัน จัดทำเส้นทางวิ่งมินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และเส้นทางจักรยานระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยทั้งสองเส้นทางนี้จะแยกจากกัน เพื่อความปลอดภัยขณะออกกำลังกาย

“อุทยานสวนจตุจักร” เป็นอีกทางเลือกของการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งประชาชนสามารถเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติได้ในเวลาเดียวกัน โดยสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นสวนพฤกษศาสตร์แหล่งรวมพันธุ์ไม้หรือพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นสวนสาธารณะสำหรับครอบครัวที่ประชาชนเข้ามาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกัน สวนจตุจักร เป็นสวนในวรรณคดีและเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ในวรรณคดีหรือต้นไม้หายาก

นอกจากนี้ กทม. ยังมีแนวคิดรวมพื้นที่สวนสมเด็จย่า 84 พรรษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสวนจตุจักรด้วย โดยใช้สะพานลอยคนข้ามบริเวณสวนจตุจักรที่มีอยู่เดิมเป็นทางเชื่อม ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับทางเดิน – วิ่งและลานกิจกรรมให้สวยงาม ปรับปรุงรางระบายน้ำ ถมดินปรับระดับ คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมกับงานปรับปรุง 3 สวนสาธารณะ เมื่อเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ กทม. จะสามารถรวมพื้นที่ 4 สวนสาธารณะเข้าด้วยกัน กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

—————————————————————————

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS กทม. สาร

ที่มา : BANGKOK NEWS กทม. สาร Issue 282/4/2565

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด