TOP

วิชาเงินเฟ้อ 101

ช่วงนี้มีข่าวพูดถึง “เงินเฟ้อ” กันมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของต่างประเทศและของไทย Financial Wisdom จึงขอชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ “เงินเฟ้อ” เพื่อพร้อมรับมือและเตรียมตัววางแผนแต่เนิ่น ๆ เริ่มกันที่ทำความเข้าใจความหมายของ “เงินเฟ้อ” ซึ่งหมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง หรือต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าและบริการจำนวนเท่าเดิม พูดง่าย ๆ ก็คือโดยรวมแล้วของแพงขึ้นนั่นเอง เช่น 20 กว่าปีที่แล้ว มีเงินอยู่ 20 บาท ซื้อข้าวไข่เจียวและน่องไก่ 1 ชิ้นได้ แต่เดี๋ยวนี้เงิน 20 บาท ซื้อได้แค่ข้าวไข่เจียว แต่น่องไก่ชิ้นโตหายวับไปกับกาลเวลาและเงินเฟ้อ หรือเคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท กินอิ่มจนพุงกาง แต่ตอนนี้ต้องจ่ายเงินซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท ได้แค่ชามเล็ก จำนวนลูกชิ้นน้อยลงแถมไม่อิ่มเท่าเดิม

“เงินเฟ้อ” มีผลกระทบกับชีวิตของเราในหลายแง่มุม ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน คือ รายจ่ายที่สูงขึ้นเนื่องจากจำนวนเงินเท่าเดิมของผู้บริโภคกลับซื้อของได้น้อยลง ส่งผลให้รายได้ที่หามาอาจไม่เพียงพอกับการยังชีพหรือตกอยู่ในภาวะ “เงินไม่พอใช้” ไปจนถึงการออมการลงทุน เช่น การวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ที่ต้องเก็บเงินออมมากกว่าเดิม เพราะอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับไม่ทันกับราคาข้าวของที่แพงขึ้น ซึ่งเราเรียกอัตราผลตอบแทนที่หักผลของเงินเฟ้อว่า “อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง”

 

อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง = อัตราผลตอบแทนที่ได้รับ – อัตราเงินเฟ้อ เช่น หากอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 0.25% ต่อปี แต่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2% ต่อปี จะทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบเท่ากับ -1.75% หากคำนวณแล้วพบว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการออมการลงทุนที่เรามีอยู่ติดลบเราคงต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เหมาะกับตัวเรา เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ ด้วยการหาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (เช่น จากรายงานนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ) และหาข้อมูลผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ว่ามีผลิตภัณฑ์ใดที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น กองทุนรวม

 

ดังนั้น การเริ่มลงทุนไม่ใช่แค่สนใจแต่อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับเท่านั้น ยังต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และวิเคราะห์ว่าตัวเองมีเป้าหมายทางการเงินอะไร สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน และต้องการอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ จากนั้นแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ นอกจากนี้ถ้าเริ่มลงทุนเร็ว ก็จะมีระยะเวลาลงทุนนาน ส่งผลให้เงินของเราเติบโตได้อย่างเต็มที่ตามที่วางแผนไว้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่คอยบั่นทอนให้มูลค่าเงินของเราลดลง แต่ถ้าเราไม่ชะล่าใจ แล้วรีบลงมือวางแผนการเงินโดยไม่ลืมให้ความสำคัญเรื่องเงินเฟ้อตั้งแต่วันนี้ เราก็จะเป็น “ผู้ชนะ” ได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก :
• เงินเฟ้อโลกสูงต้องกลัวอะไร? โดย ดร.ฐิติมา ชูเชิด
• ไขปริศนาเงินเฟ้อโลกในยุคก่อนและหลังโควิด 19 โดยคุณสุพริศร์ สุวรรณิก
• เงินเฟ้อมีผลกระทบกับเราอย่างไร? โดย Mr. BOT

————————————————————————————————–

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE

ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – มีนาคม 2565

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด