TOP

เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินี องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี! ‘สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี’

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เดิมทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหาร ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็น รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็น ราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงผ่านการฝึกฝนทางทหารด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เข้มแข็ง อดทน และมีวินัยอย่างยิ่งด้วยพระองค์เอง ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิชาทางการทหาร และด้านการบินมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรวิชาทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ของโรงเรียนและศูนย์ฝึกหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์, หลักสูตร ชั้นนายร้อย-ชั้นนายพัน หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ของโรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ, หลักสูตรหลักประจำ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 91, หลักสูตรประจำ วิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 59, หลักสูตรส่งทางอากาศ ของโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ, หลักสูตร ส่งทางอากาศนาวิกโยธิน ของโรงเรียนทหารนาวิกโยธิน ด้วยการกระโดดร่มลงทะเลในเวลากลางคืน ที่สัตหีบ, หลักสูตร Combat Qualifying Course Jungle Warfare ของหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์, หลักสูตรการยิงปืนพกในระบบต่อสู้ ภายใต้สภาวะกดดันของกองบังคับการปราบปราม, หลักสูตรการบินของหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ โดยทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบ Cessna T 41, การฝึกและศึกษาตามหลักสูตรศิษย์การบินทหารบกอากาศยาน ปีกติดลำตัว ชั้นมัธยม ของโรงเรียนการบินทหารบก ทรงทำการบินกับเครื่องบิน แบบ Cessna T 41, หลักสูตรการบินของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ ทรงทำการบินกับเครื่องบิน แบบ CT-4E และ PC-9

แม้แต่ในด้านการบิน ตามหลักสูตรการบิน ของหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ ทรงทำการบินกับเครื่องบินแบบ Cessna T 41, หลักสูตรศิษย์การบินทหารบกอากาศยาน ปีกติดลำตัว ชั้นมัธยม ของโรงเรียนการบินทหารบก ทรงทำการบินกับเครื่องบิน แบบ Cessna T 41, ทรงสำเร็จการฝึกและศึกษาตามหลักสูตรการบินของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ ทรงทำการบินกับเครื่องบิน แบบ CT-4E และ PC-9 และยังทรงเสด็จฯไปทรงฝึก และศึกษาการบินเพิ่มเติม ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทรงผ่านการทดสอบ และได้รับใบอนุญาตนักบินของสหภาพยุโรป ออกใบอนุญาต โดยสำนักงานการบินพลเรือน แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อีกด้วย ที่ผ่านมาทรงปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์อย่างมุ่งมั่น ในการถวายพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงตั้งมั่นในการถวายรักษาความปลอดภัย  

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินี ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

 

ซึ่งนับได้ว่า เป็นสมเด็จพระบรมราชินี องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังรายพระนามสมเด็จพระราชินีแห่งราชวงศ์จักรี ใน 10 รัชกาล ดังนี้

รัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระนามเดิมว่า ‘นาค’ เป็นอรรคชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระชายา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 3 ไม่มีการสถาปนาพระราชินี 

รัชกาลที่ 4 ไม่มีการสถาปนาพระราชินี มีแต่พระภรรยาเจ้าชั้นสูงสุดในตำแหน่งพระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระราชเทวี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)

รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระนางเจ้าอินทศักดิ์ศจี พระบรมราชินี พระนามเดิม นางสาวประไพ สุจริตกุล ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ได้รับการสถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธอ พระนางอินทรศักดิ์ศจี เมื่อทรงทำพิธีอภิเษกสมรส ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2465 ก็ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศพระวรราชชายาเธอ พระนางอินทรศักดิ์ศจี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทศักดิ์ศจี พระบรมราชินี

รัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระนามเดิม หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์

รัชกาลที่ 8 ไม่มีพระมเหสี

รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงดำรงพระยศ จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง และทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และมีพระราชโองการให้สถาปนาพระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จึงทรงเป็นพระบรมราชินีองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด