TOP

‘โฆเซ การ์เรรัส’ นักร้องโอเปรายอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 เลือกเมืองไทย ปิดฉากการแสดงอำลาเวที ในวัย 73 ปี

ถ้าจะกล่าวถึงโลกของการแสดง “โอเปรา” เชื่อแน่ว่าผู้ที่เป็นคอศิลปะการแสดง คงไม่มีใครไม่รู้จักเขาคนนี้ ‘โฆเซ การ์เรรัส’ (Jose Carreras) นักร้องเสียงเทเนอร์ เจ้าของรางวัลแกรมมี่ ที่เราขอสดุดีเขาเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างหมดใจ เขาคือตำนานมีชีวิต ลมหายใจแห่งศิลปินผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณ ผู้สืบทอดศาสตร์และศิลป์การแสดง และการขับร้องชั้นสูงของโอเปรา ศิลปะการแสดงอันมีมานับศตวรรษตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ให้คงอยู่คู่ศตวรรษที่ 21

 

‘The Great Caruso’ จุดประกายนักร้อง ผู้ยิ่งใหญ่

ชีวิตในวงการแสดงของเขาโลดแล่นมากว่า 60 ปี จนถึงวันนี้ที่วัยล่วงเลยเข้าสู่อายุ 73 แล้ว ‘โฆเซ การ์เรรัส’ สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว และชาวสเปนมิใช่น้อย ฐานะสายเลือดของประเทศ ในวันที่เขาประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับโลก คงมีสักแว๊บที่เขาย้อนกลับไปนึกถึง ขอบคุณโชคชะตาและตัวเอง ที่ทำให้เขาได้พบว่า “แพสชั่น” ในวัยเพียง 6 ปีนั้น มันอะเมซิ่ง และยิ่งมี “ความมุ่งมั่น” เดินตามรอยแพสชั่นของตัวเองอย่างถึงที่สุด ทำให้เขามีวันนี้ที่ภาคภูมิใจ ความหลงใหลนี้เกิดขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสชม ภาพยนตร์เรื่อง The Great Caruso ใครจะรู้ว่า การแสดงอันทรงคุณค่าและทรงพลังของนักแสดงหนุ่ม “มาริโอ้ แลนซ่า” (Mario Lanza) ในเวลานั้น จะเปิดโลกใหม่จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กน้อย โฆเซ ปักหมุดเดินตามรอยทางฝันอันยิ่งใหญ่

ที่เมืองบาร์เซโลน่า เมื่ออายุได้ 11 ปี เขาได้มีโอกาสโชว์พลังเสียงแตกหนุ่ม ด้วยการร้อง Verdi aria ทางวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ เรียกได้ว่าในช่วงเวลานั้น ไม่มีอะไรจะหยุดเขาได้อีกแล้ว เขาได้สร้างมนต์สะกดให้คอเพลงเคลิบเคลิ้ม ด้วยเนื้อเสียงกังวานใส ในโทนเสียงแบบเทเนอร์ที่ ‘โฆเซ การ์เรรัส’ มีความถนัด และเลือกขับร้องด้วยเสียงระดับสูง หนึ่ง ใน 6 ระดับเสียงร้องของนักร้องชาย ให้ได้ตื่นใจไปกับการแสดงในบทต่างๆ มากกว่า 60 บทเพลงของโอเปรา ที่ประพันธ์โดย แวร์ดี และ ปุชชินี จนถือได้ว่าเขาคือดวงดาวแห่ง “La Boheme” ที่สร้างสรรค์โดย ฟรานโก้ เซฟฟิเรรี่ 

 

สู้มะเร็งร้าย

ใครจะคาดคิด แม้แต่ตัวเขาเอง ว่าจะโชคร้ายเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในการต่อสู้กับโรคร้ายมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) พลังใจมากมายจากแฟนเพลงทั่วโลก ที่ส่งผ่านมายังเขาและครอบครัว แม้ชีวิตไม่ง่ายแต่ โฆเซ มีความเข้มแข็งผ่านจุดพลิกชีวิต เขาได้รับการฉายรังสี และปลูกถ่ายไขสันหลัง จนอาการหายกลับมาเป็นปกติ ทำให้เขารู้ซึ้งถึงวินาทีชีวิต จึงได้อุทิศเงินรายได้เป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนการวิจัยและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผ่านมูลนิธิ Jose Carreras International Leukaemia Foundation ในขณะที่ โฆเซ การ์เรรัส กำลังพักฟื้นจากโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ลูชาโน่ ปาวารอตตี นักร้องโอเปร่าเสียงเทเนอร์ ชาวอิตาลี ยังได้ภาวนาให้โฆเซ มีอาการดีขึ้นในเร็ววัน และยังกล่าวต่ออีกว่า “ไม่เช่นนั้น ผมจะไม่มีคู่แข่งเหลืออยู่อีก”

 

‘The Three Tenors’

ตำนานของ 3 นักร้องเสียงเทเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ 

กลับมาผงาด! ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดนตรีครั้งสำคัญ ที่โลกต้องจดจำ หลังจาก โฆเซ พิชิตโรคมะเร็งร้าย เขาได้ขึ้นทำการแสดง ร่วมกับ 2 สุดยอดนักร้องเสียงเทเนอร์ ‘พลาซิโด โดมิงโก’ และ ‘ลูชาโน่ ปาวารอตตี ในนาม ‘The Three Tenors’ งานฟุตบอลโลก ที่อิตาลี ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุด และถือได้ว่าเป็นการรวมตัว ของสามนักร้องเสียงเทเนอร์ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคนี้ ที่ได้แนะนำให้คนรุ่นใหม่ รู้จักโลกแห่งโอเปรา แม้แต่ ‘เฮอเบิร์ต วอน แครายันส์’ วาทยกรระดับตำนาน ยังยกย่องว่า โฆเซ คือ ดอน โฆเซ (ตัวเอกจากโอเปราเรื่อง ‘คาร์เมน’) ที่ชีวิตเต็มไปด้วยพลัง และนี่เป็น ดอน โฆเซ ที่เขาฝันถึงมาตลอด

พลังความยิ่งใหญ่จากการรวมตัวแสดงสดของ 3 นักร้องเสียงเทเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ ‘The Three Tenors’ สะกดตรึงคนดูไปทั่วโลก เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ ที่ต้องถูกบันทึกไว้ ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าวครองตำแหน่งผลงานดนตรีคลาสสิค ที่มียอดจำหน่ายซีดีอย่างมหาศาล จำนวนมากกว่า 13 ล้านแผ่นทั่วโลก และยังถูกบันทึกไว้ใน กินเนสต์ เวิร์ค เรคคอร์ด อีกด้วย จากนั้นเขายังได้รับเกียรติ ให้ขับร้องในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกถึง 4 สมัย รวมถึงได้แสดงที่ Dodger Stadium ขับร้องในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองบาร์เซโลน่าอีกด้วย สำหรับ โฆเซ การ์เรรัส ยังได้รับการกล่าวชื่นชมจาก ‘ลูชาโน่ ปาวารอตตี อีกครั้งว่า “เขาคือนักร้องโดยสัญชาตญาณ เขาคือนักร้องเสียงเทเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนสุดท้าย”

 

การแสดงมากกว่า 60 เรื่อง คือ รางวัลแห่งชีวิต Grammy Awards คือ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

ตลอดชีวิตการแสดง ‘โฆเซ การ์เรรัส’ ฝากผลงานอันเป็นที่สุดแห่งความประทับใจไว้หลายการแสดง มากกว่า 60 เรื่อง ณ โรงอุปรากรที่สำคัญ อาทิเช่น La Scala in Milan, the New York Metropolitan Opera House, และ London’s Royal Opera House, Teatro alla Scala, Vienna Staatsoper, Royal Opera House Covent Garden, Zurich Opera, Berlin Deutsche Oper, Theatre du Champs Elysees, Washington Opera, Barcelona’s Gran Teatre del Liceu, Madrid’s Teatro Real และ Sydney Opera House และได้ร่วมทำงานกับวาทยกรระดับตำนานของโลกมากมาย เช่น Herbert von Karajan, Riccardo Muti, Leonard Bernstein และ Zubin Mehta  ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ อาทิ รางวัลชนะเลิศ และได้รับการเสนอชื่อ Grammy Awards รางวัล Commander of the Ordre des Arts et des Lettres, Sir Lawrence Olivier Award, Echo Lifetime Achievement Award, Classical Brit Lifetime Achievement Award, รางวัลเหรียทอง City of Barcelona และอีกมากมาย

 

โฆเซ เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของออสเตรเลีย The Sydney Morning Herald (เดอะซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์การ์เรรัส) ถึงความคิดของเขาในขณะทำการแสดงว่า “ผมคิดอยู่ตลอด เกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังทำขณะกำลังแสดง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นไปอย่างธรรมชาติ ยากที่จะอธิบายจริงๆ จิตวิญญาณทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก และสมองของผม ก็จะสั่งการอารมณ์ถึงทิศทางการแสดงออก และกลายเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาในรูปของบทเพลง”

 

โอเปร่า ผู้เป็นตำนาน..ขออำลาเวที

ในวัยที่เรียกได้ว่าถ้ารับราชการก็คงเกษียณไปนานแล้ว คุณลุงโฆเซ การ์เรรัส อายุย่างเข้า 73 ปีนี้ แม้เขายังคงแข็งแรง และมีเส้นเสียงอันทรงพลัง แต่ต้องยอมรับในความจริงที่ว่า ร่างกายและเส้นเสียงก็ต้องเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา โฆเซ ยังมีความลังเล ในการจะยุติการแสดงบนเวทีไปเลย หลังจากดินสายทำการแสดงอำลาเวที ในปี พ.ศ. 2562 นี้ เพื่ออุทิศเวลาให้กับมูลนิธิลูคิเมียของเขา

 

สุดเซอร์ไพร์ส! โฆเซ เลือก “เมืองไทย” อำลาเวที 

สุดเซอร์ไพร์ส! ที่โฆเซ เลือกเพียง 2 ประเทศในแถบเอเชีย เพื่อทำการแสดงอำลาเวทีในครั้งนี้ คือ “ประเทศไทย” ในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2562 ถือเป็นการแสดงชุดสุดท้ายร่วมกับวงออร์เคสตร้า ก่อนปิดม่านการแสดงอย่างเป็นทางการ ของงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21 และ “ประเทศฮ่องกง” เป็นประเทศที่สอง ที่ โฆเซ เลือกไปทำการแสดง วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ด้วยความปรารถนาที่จะฝากเสียงร้องเทเนอร์ในโอเปรา ไว้ให้ได้คิดถึงกัน และอีกเหตุผลที่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือก “เมืองไทย” นั้น น่าจะเพราะความผูกพัน กับ ละครเพลงบรอดเวย์สุดคลาสสิคของอเมริกา เรื่อง ‘West Side Story’ ที่ในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) เบอร์สไตน์ นำเอาดนตรีของหนังเรื่องนี้ มาเรียบเรียงเสียงใหม่ ให้อยู่ในรูปแบบอุปรากรโอเปรา โดยให้เขานักร้องเสียงเทเนอร์ มาร้องส่วนของ “โทนี” (พระเอกของการแสดง) และ นักร้องโซฟราโนชื่อดัง “คิริ เต คานาวา” มาร้องส่วนของ “มาเรีย” (นางเอกของการแสดง) ซึ่งอัลบั้มนี้ได้รางวัลแกรมมี่ ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) และละครบอร์ดเวย์เรื่องนี้ ได้ถูกจัดให้อยู่ในโปรแกรมการแสดง ของงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 19 ในปี พ.ศ. 2560 ที่ได้ทำการแสดงไป เมื่อวันที่ 5-8 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ณ ประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งครั้งนั้นถือเป็นของขวัญจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

และนี่ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนกรุงเทพฯ ที่จะได้รับชมการแสดงอำลาเวที ของนักร้องโอเปรายอดเยี่ยมที่สุดของโลก แห่งศตวรรษที่ 21 โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศ ที่โฆเซเลือกเพียงไม่กี่ประเทศ บินมาทำการแสดงเพื่ออำลาเวทีครั้งนี้ และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกนั้นละ ที่กรุงเทพฯ ถึงแม้จะอยากชมการแสดง แต่ก็ต้องฟาดฟันแย่งชิงที่นั่งกันน่าดู ด้วยจำนวนรอบที่จำกัด และที่นั่งก็จำกัดอีกด้วยเช่นกัน

 

 

 “ตำนาน” กับ “ดาวรุ่ง” ผสมผสานอย่างลงตัว

ณ มหานครกรุงเทพฯ จะถูกจารึกในบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลก โยงใยเส้นทางการแสดงของศิลปินระดับตำนานโอเปร่า จุดหมายปลายทางของการโบกมืออำลาเวทีการแสดงอันทรงเกียรติ และมิตรรักแฟนเพลงตัวยง คงไม่มีใครอยากพลาดโมเมนท์ที่สุดแสนจะพิเศษ พร้อมร้อยเรียงความประทับใจครั้งนี้ไปด้วยกัน จากนี้ไปเราคงได้แต่รำลึกถึงช่วงเวลากว่า 60 ปี กับการแสดงกว่า 60 ครั้ง บนเส้นทางดนตรีของปรมาจารย์นักร้องโอเปร่าคนนี้ “โฆเซ การ์เรรัส”

ครั้งนี้มาพร้อมไฮไลท์ประชันพลังเสียง กับนักร้องดาวรุ่งเสียงสวยโซปราโน สาวชาวไอริช “เซลิน ไบร์น” (Celine Byrne) เธอผู้ฝากผลงานบนเวทีโอเปร่ามาแล้วมากมายทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง จีน รัสเซีย และเม็กซิโก หลายๆ คนพูดถึงเธอถึงความมีชีวิตชีวา จากการแสดงโอเปราในหลากหลายบทบาท อีกทั้งยังเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลอันทรงเกียรติ Maria Callas Grand Prix เธอรักการท่องเที่ยวและการแสดงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเชื่อว่า สองสิ่งที่รักเมื่อผสานกันแล้วมันก็คือ ‘ความสมบูรณ์ทางศิลปะ’ ซีลินได้รับแรงบันดาลใจจาก มาเรีย กาลาส (Maria Callas) นักร้องเสียงโซปราโนในตำนาน ผู้มีบทบาทแต่งแต้มการแสดงของเธอให้เต็มไปด้วยอารมณ์อันชัดเจนภายใต้ การควบคุม และกำกับวงออร์เคสตร้าโดย Maestro David Giménez

 

เซลิน เข้าสู่โลกแห่งโอเปร่า เมื่ออายุ 18 ปี ขณะที่เธอทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในอิตาลี การได้ค้นพบตัวเองในสิ่งที่รัก ไม่ว่าช่วงไหนของชีวิตก็ไม่ถือว่าสายไป เธอตัดสินใจเรียนร้องเพลงอย่างจริงจัง หลังจากได้รับแรงบันดาลใจ วันนี้ถือได้ว่า เธอคือดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการ จนเธอได้เดบิวต์ ณ คาร์เนกี้ ฮอลล์ แห่งมหานครนิวยอร์ค ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) จุดสูงสุดครั้งหนึ่งในเส้นทางอาชีพ ที่เธอมีความภาคภูมิใจ คือ การได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ท่ามกลางผู้ชมในสนามกีฬาอีกกว่า 50,000 คน ร้องเพลงคู่กับ แอนเดรีย โบเซลลี่ ในดับลิน ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมไอร์แลนด์ จนกระทั่ง Irish Times หนังสือพิมพ์ไอริช ตีพิมพ์กล่าวถึงเธอว่า “เธอมีตัวตนที่ชัดเจน มีเสียงที่มีพลังและยืดหยุ่น มีความฉลาดที่เข้าใจวิธีสื่อสารด้วยดนตรี และถ้อยคำต่างๆ ทุกองค์ประกอบทำงานร่วมกันอย่างลงตัว”

และเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้กับการแสดงที่กรุงเทพฯ การปรากฏตัวของวาทยกร เดวิด ฮิเมเนซ (David Gimemez) ซึ่งเป็นวาทยกรที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ในความเข้าใจต่อเสียงดนตรี ส่งผลให้เขาได้แสดงกับนักร้องระดับแนวหน้าในโลก และร่วมกับออร์เคสตราชั้นนำ เช่น Teatro alla Scala, Vienna Staatsoper และ Royal Opera House Covent Garden

 

งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21

การผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างตำนานกับดาวรุ่งของโอเปราระดับโลก โฆเซ การ์เรรัส และเซลิน ไบร์น จะเป็นประสบการณ์ล้ำค่า และทั้งหมดที่กล่าวมาคือ พลาดไม่ได้จริงๆ กับคอนเสิร์ตเพียงรอบเดียว และอาจจะเป็นครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย ที่งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 21

ติดต่อ : สายด่วนสอบถามเรื่องบัตรชมการแสดง โทร.​ 02 262 3456 และเคาน์เตอร์ Thai Ticket Major ทุกสาขา

ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ www.bangkokfestivals.com; https://www.facebook.com/bangkoksInternationalFestivalofDanceMusic/

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด