TOP

คืนเพ็ญพุธ ‘วิสาขบูชา’ ชม ‘ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน’ (ราหูอมจันทร์) เหนือฟ้าเมืองไทย 26 พ.ค นี้!

คืนวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 ชวนชม จันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย (PartialLunarEclipse2021) เวลา 18:38 – 19:52 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏเว้าแหว่ง สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศไทย สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงนั้น สังเกตและมองเห็นได้ในแถบประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก ตั้งแต่เวลา 15:47 น. จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16:44 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 18:11-18:25 น. แต่ในวันดังกล่าว ในประเทศไทยนั้น ดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:38 น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นเป็นเพียง จันทรุปราคาบางส่วน เท่านั้น

ผู้สนใจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18:38 น. เป็นต้นไป จะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วน และค่อยๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวง ในเวลา 19:52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20:49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกฝั่งกลางคืน ในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืด แล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง

 

ในสำหรับในปี 2564 ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น และถือเป็นอัศจรรย์ในค่ำคืนวันพุธกลางคืน ของคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ที่ตรงกับวันพระใหญ่สำคัญทางพุทธศาสนา นั้นคือ วันวิสาขบูชา หรือทางโหราศาสตร์เรียกว่า คืนพุธราหูซ้อนราหูอมจันทร์

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)ตรียมจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ผ่านทาง เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เริ่มตั้งแต่เวลา 18:00 – 20:00 น. พร้อมสัญญาณภาพจากหอดูดาว 4 ภูมิภาค
– หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

 

หากใครมีกล้องโทรทรรศน์ส่วนตัว หรือเป็นโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก NARIT ก็เป็นโอกาสดีที่จะนำกล้องออกมาตั้งสังเกตการณ์กัน แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากใครอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ขอให้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง (หรือดู LIVE ของ NARIT ก็ได้ ปลอดภัยแน่นอน) และสำหรับจันทรุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยครั้งถัดไปคือ จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565

———————————————————–

ที่มา: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด