TOP

เสริมสิริมงคลให้ยิ่งปัง! ตามรอยมังกร หัว ท้อง หาง ‘วัดเล่งเน่ยยี่-เล่งฮกยี่-เล่งฮัวยี่’

ชาวจีนมีความเชื่อกันว่า “มังกร” คือสัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องฟ้าและผืนดิน เป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ ความดีงาม พลังอำนาจ และความโชคดีสูงสุดเลยก็ว่าได้ และมังกรจีนยังถือเป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้องคุ้มครอง เรามา “ตามรอยมังกร หัว ท้อง หาง” ยัง 3 วัด ใน 3 จังหวัด ณ “วัดเล่งเน่ยยี่” ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ (ส่วนหัวมังกร), “วัดเล่งฮกยี่” จังหวัดฉะเชิงเทรา (ส่วนท้องมังกร) และ “วัดเล่งฮัวยี่” จังหวัดจันทบุรี (ส่วนหางมังกร) ครบทั้งตัวมังกรตามความเชื่อจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลนานัปการ ให้ตรุษจีนปีฉลูทอง 2564 นี้ เฮงเฮง ตลอดไป

 

หัวมังกร

‘วัดเล่งเน่ยยี่’ หรือ ‘วัดมังกรกมลาวาส’

ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ

พระอาจารย์สกเห็ง อดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสรูปแรก ได้เกิดนิมิตเป็นที่อัศจรรย์ต้องสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ขึ้น ตามหลักฮวงจุ้ยจีน ให้สอดรับต่อเนื่องกันเป็นมังกรทั้งส่วนหัว ลำตัว และหาง 3 วัดใน 3 จังหวัดประเทศไทย โดย วัดมังกรกมลาวาส หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่า ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ ตั้งอยู่ในย่านชุมชนชาวจีนเยาวราช เชื่อกันว่าเป็นถนนสายมังกร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิสร้างวัด โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 กว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลาในการสร้างถึง 8 ปี จากนั้นได้อาราธนา พระอาจารย์สกเห็ง มาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร’ เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย ชื่อวัดอันมีความหมายของ “วัดเล่งเน่ยยี่” นั่นคือ ‘เล่ง’ แปลว่ามังกร ‘เน่ย’ แปลว่าดอกบัว ‘ยี่’ แปลว่าวัด ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” ก่อนเข้าสู่วิหารท้าวจตุโลกบาล บริเวณหน้าประตูทางเข้ามีป้ายคำโคลงคู่ ที่พระอาจารย์สกเห็งเขียนด้วยลายมือเป็นภาษาจีน แฝงความหมายว่ามังกรบินร่อนลงแผ่นดิน” และ “ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา” ที่วัดแห่งนี้จึงเปรียบดั่ง “ส่วนหัวของมังกร”

วัดมังกรกมลาวาสใช้ผังแบบวัดจีนโบราณ มีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนตอนใต้ ประกอบด้วยอาคารหลัก มี ‘อุโบสถ’ ตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามี ‘วิหารท้าวจตุโลกบาล’ ด้านหลังเป็น ‘วิหารบูรพาจารย์’ ส่วนด้านซ้ายขวาก็มีวิหารอื่นๆ อีกหลายหลัง เมื่อเข้าไปภายในวิหารท้าวจตุโลกบาล จะได้พบกับเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศทั้ง 4 ทิศ ในเครื่องแต่งกายชุดนักรบจีน ประกอบด้วย เจ้าแห่งคนธรรพ์ ท้าวธตรฐ ถือพิณ, เจ้าแห่งกุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหก ถือร่ม, เจ้าแห่งนาค ท้าววิรูปักษ์ถือดาบและงู และเจ้าแห่งยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณ ถือเจดีย์  ส่วนตรงกลางด้านหน้าเป็นพระเมตไตรยโพธิสัตว์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย และส่วนด้านหลังเป็นรูปพระเวทโพธิสัตว์ หรือสกันทะโพธิสัตว์ หันหน้าเข้าหาอุโบสถในส่วนของอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน 3 องค์ ประกอบด้วย ‘พระศรีศากยมุนี’ อยู่ตรงกลาง ฝั่งขวาเป็น ‘พระอมิตาภพุทธเจ้า’ พระธยานิพุทธะ ผู้สถิตอยู่ในดินแดนสุขาวดี ส่วนฝั่งซ้ายเป็น ‘พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า’ พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ โดยมี 18 อรหันต์ตั้งขนาบทั้งสองข้าง  ส่วนวิหารจุดที่คนส่วนใหญ่มาแก้ชงกัน เป็นที่ประดิษฐานขององค์ ‘ไท่ส่วยเอี๊ย’ เทพผู้คุ้มครองชะตาชีวิต อย่างไรก็ดี ยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ ที่เราได้กราบไหว้ขอพรเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต

 

📍 ปักหมุด: “วัดเล่งเน่ยยี่” ตั้งอยู่ที่ ถ.เจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

Photo Credit: Wikipedia

——————–🐉——————–

 

ท้องมังกร

‘วัดเล่งฮกยี่’ หรือ ‘วัดจีนประชาสโมสร’

จ. ฉะเชิงเทรา

หลังจากได้ตามรอย “หัวมังกร” ที่ “วัดเล่งเน่ยยี่” กันไปแล้ว เดินทางกันต่อยัง “วัดเล่งฮกยี่” จังหวัดฉะเชิงเทรา ในตำแหน่งฮวงจุ้ย “ส่วนท้องของมังกร” สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2449 ซึ่งคำว่า ‘ฮก’ แปลว่าโชคลาภ วาสนา วัดแห่งนี้ผู้คนจึงมักเรียกว่า “วัดมังกรแห่งวาสนา” เป็นวัดในพุทธศาสนา มหายานฝ่ายจีนนิกาย มีพระอาจารย์สกเห็ง ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดเล่งฮกยี่นี้ด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ทรงเสด็จพระราชดำเนินยังวัดเล่งฮกยี่ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดจีนประชาสโมสร” พร้อมป้ายชื่อพระราชทาน เป็นวัดในพุทธศาสนา มหายานฝ่ายจีนนิกาย มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภายในวิหารมีเทวรูปเทพเจ้าที่สำคัญของชาวจีนประดิษฐานที่นี่ บริเวณทางเข้าวิหารของวัด ทั้งด้านซ้ายและขวา จะมีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลองค์ใหญ่ตั้งอยู่ เช่นเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งตามความเชื่อว่า ที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศทั้ง 4 ทิศ ภายในวิหารจะมีพระพุทธรูปแบบจีน ในลัทธิมหายานประดิษฐานอยู่ 3 องค์ คือ พระยูไล้, พระโอนิโทฮุด และพระเอี้ยซือฮุด ซึ่งมีความเชื่อกันว่าสามารถปกปักรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และอัศจรรย์สร้างขึ้นจากกระดาษเปเปอร์มาเช่ และปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นำมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พร้อมกับพระพุทธรูป 18 อรหันต์ ที่อยู่ข้างวิหารด้านในมีความเก่าแก่ราว 200 ปี และภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่เซ่งเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

เคล็ดลับขอโชคลาภ: ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ยังนิยมขอโชคลาภ โดยท่องบทสวดของท่าน 3 ครั้ง จากนั้นนำกระเป๋าเงินของเราไปไว้ที่ปากถุงเงินของท่าน ตบก้นถุงของท่าน 3 ครั้งหลังจากนั้นลูบจากก้นถุงขึ้นมายังปากถุง 3 ครั้ง เหมือนเป็นการนำโชคลาภใส่ลงกระเป๋าของเราเอง พร้อมทั้งหยิบเหรียญขวัญถุงมา 1 เหรียญ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการขอโชคลาภ และอย่าลืมก่อนออกเดินทางต่อ ตีระฆังใบยักษ์ให้กังวาน ซึ่งรอบระฆังจะมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ถือกันว่าผู้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์บทนี้ ซึ่งจะได้บุญกุศลเป็นอย่างมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าวัดแห่งนี้เป็นดั่งส่วนท้องของมังกร ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพลัง ส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร และความเจริญรุ่งเรือง

 

📍 ปักหมุด: ‘วัดเล่งฮกยี่’ ถ. ศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

Photo Credit: Thailand Tourism

——————–🐉——————–

 

หางมังกร

‘วัดเล่งฮัวยี่’

จ.จันทบุรี

ตามรอยมังกรส่วนหาง“วัดเล่งฮัวยี่” ชื่อวัดคำว่า ‘ฮัว’ มีความหมายถึง ดอกไม้ วัดแห่งนี้จึงมีอีกชื่อเรียกว่า “วัดมังกรบุปผาราม” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยเจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดมังกรบุปผาราม ผู้ดูแลการก่อสร้างวัดจนสำเร็จ ความโดดเด่นของวัดต้องยกให้กับสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างพุทธศิลป์ไทย-จีนอันทรงคุณค่า ด้านหน้าวัดเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ท้าวธตรฐ, ท้าววิรุฬหก, ท้าววิรูปักษ์, ท้าวเวสสุวรรณ ในเครื่องแต่งกายชุดนักรบจีน ด้านในวัดมีอุโบสถทรงจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์ พร้อมทั้งสักการะพระประธานพระพุทธเจ้า 3 พระองค์งดงามสีทองอร่าม พร้อมด้วยพระสาวก พระมหากัสสปะเบื้องซ้าย และพระอานนท์เบื้องขวา ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา โดยรูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีน และยังมีรูปเคารพเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้เคารพบูชาอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยัง มีศาลาพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสก เป็นลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม

📍 ปักหมุด: ‘วัดเล่งฮัวยี่’ ถ.สุขุมวิท ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

 

จะเห็นได้ว่าการ “ตามรอยมังกร ทั้งส่วนหัว ลำตัว และหาง” มังกรตัวนี้มีความยาวพาดผ่านถึง 3 จังหวัดอันมีความสำคัญของประเทศไทย ดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ‘เยาวราช-กรุงเทพฯ’ ดินแดนแห่งการค้าขายอันอุดมไปด้วยเงินทองสะพัด, ‘เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา’ ดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และ ‘จันทบุรี’ เมืองท่าค้าขายและแหล่งพลอยที่ร่ำรวย ขอให้ตรุษจีนปีฉลูทองนี้ แฟนๆ อะราวด์ มีความสุขกาย สุขใจ สมหวัง ร่ำรวยเงินทอง อำนาจวาสนาบารมี อายุยืนยาว ปัง ปัง มีชื่อเสียงโด่งดัง ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคน

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด