TOP

ปักหมุดตามรอยคำสอนของพ่อ แรงบันดาลใจสู่การทำงานและสุขที่พอเพียง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีความเป็นห่วงพสกนิกรของพระองค์เสมอมา ความวิริยอุตสาหะ และทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย นำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทให้กับเหล่าข้าราชบริพาร และพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ เป็นข้อคิด คำสอน ที่พ่อได้ให้กับลูก ในโอกาสนี้ AROUND ONLINE ขอน้อมนำ ๙ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ในด้านการดำเนินชีวิต และการทำงาน จาก “หนังสือ ๙๙ พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจขับเคลื่อนชีวิต และขับเคลื่อนประเทศชาติไปด้วยกัน

*สามัคคี…

เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ประเทศชาติ*

“ถ้าหากเราชาวไทย ยังคงมีความสามัคคี พร้อมเพรียงกันโดยทั่วไป อย่างที่ได้ประจักษ์แก่ข้าพเจ้า ในคราวไปเยือนจังหวัดต่างๆ นี้แล้ว ก็จะช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ประเทศชาติ ให้อยู่ในฐานะสามารถเผชิญเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหน้าได้ดี ฉะนั้น ขอให้ทุกฝ่ายจงตั้งจิตร่วมใจกัน สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ยึดมั่นในอุดมคติที่จะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติของเรา จะได้เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๙๙

วันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
-||-

*พอประมาณ ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข*

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ ความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”

 

พระราชดำรัสรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

 

-||-

 

*คนที่ทำงานได้จริง ไม่ว่าจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ*

“เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จ ในงานที่ทำสูงขึ้น”

 

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา

วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓o

 

-||-

 

*ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้*

“ในการปฏิบัติงานนั้น ย่อมมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องแก้ไข อย่าทิ้งไว้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลายๆ คน หลายๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน”

 

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

 

-||-

 

“เหนียว” อดทนในความดี

“…ความเพียรนี่หมายความว่า ไม่ใช่ความเพียรในการทำงานเท่านั้นเอง หมายถึงความเพียรที่จะข่มใจตัวเองด้วย ความกล้าหาญที่จะข่มใจตัวเองให้อดทน ไม่ใช่อดทนแล้วก็เหมือนว่าใครทำก็ทำไป  เราทนเอาไว้เท่ากับคนอื่นเขาเอาเปรียบเรา ไม่ใช่อดทนที่จะยังไม่เห็นผล อดทนที่จะทราบว่าสิ่งใดที่เราทำต้องใช้เวลา ถ้าเราอดทน หรือถ้าพูดตามธรรมดาว่า “เหนียว” ไว้ อดทนในความดี ทำให้ดี เหนียวไว้ในความดีแล้ว ภายภาคหน้าได้ผลแน่…”

 

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันเสาร์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

 

-||-

 

*บ้านเมืองใด ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว

จะดำรงอยู่มิได้เลย*

“การที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรม เป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้นในการที่จะประกอบการงานเพื่อตน เพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่าการงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใด ก็ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย”

 

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒o

 

-||-

 

*เราใช้ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน

ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”*

“เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้น ที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละ คือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป คนที่ทำงานตามวิชาการ จะต้องดูตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดเล่มคือปิดตำรา ปิดตำราแล้วไม่รู้จะทำอะไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกใหม่ เปิดหน้าแรกก็เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบ “คนจน” ใช้ความอะลุ้มอล่วยกัน ตำรานั้นไม่จบ เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”

 

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันพุธที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

 

-||-

 

*อดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์*

“การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง โต้เถียง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทาง และวิธีการปฏิบัติงาน”

 

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

 

-||-

 

*ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นเป้าหมาย*

“ในอันที่จะทำงานของตนให้ประสานกับงานอื่น และประสานกับฝ่ายอื่นบุคคลอื่น จะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานอย่างคับแคบมิได้เป็นอันขาด ท่านจะต้องทำตัวทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น และเที่ยงตรง ยึดถือเหตุผลความถูกต้อง ความพอเหมาะพอควร และประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นเป้าหมาย”

 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด