TOP

รูปทรงเรขาคณิต ผสมผสานตัดต่อเพิ่มสตอรี่ให้ผ้าไหมไทย ในรูปแบบใหม่ เรดี้ ทูแวร์ โดย “เอก ทองประเสริฐ”

เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และนักออกแบบชื่อดังระดับโลก เจ้าของแบรนด์ EK Thongprasert กับการออกแบบชุดผ้าไทยร่วมสมัย 15 ชุด ในงาน ทรัพย์แผ่นดิน ศิลป์สยาม : Thai Treasures ดีไซเนอร์มากฝีมือ ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ที่นิยมเรดี้ ทู แวร์ (Ready-To-Wear) การดีไซน์ออกแบบครั้งนี้ จึงมีความหรูหราและเป็นทางการมากขึ้นตามคอนเซ็ปต์ของงาน โดยการนำโครงสร้างของลายผ้าไทย มาลดทอนความเป็นลายกนกไทย และนำโครงสร้างลูกเล่นของรูปทรงเรขาคณิตมาย่อยลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เส้นสายต่างๆ มาตัดต่อกับลายไทยให้ดูทันสมัยมากขึ้น ใช้เทคนิคต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการนำผ้าชนิดอื่นเข้ามาแทรกกับผ้าไหมไทย จาก 5 ชุมชนท้องถิ่น ที่สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนด้วยการสร้างโครงสร้างที่น่าสนใจในรูปแบบใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ

AROUND ได้ชวน “คุณเอก” พุดคุยถึงที่มา แนวคิดที่จะทำให้การสวมใส่ผ้าไหมไทยเป็นเรื่องสนุก อินสไปร์ให้เหล่าแฟชั่นนิสต้า ลุกขึ้นมาแต่งผ้าไทย ส่งต่อแรงบันดาลใจไปให้ชาวโลกหันมา ว้าว!

 

เสน่ห์ของผ้าไหมไทย ในความคิดของ “คุณเอก ทองประเสริฐ”

เสน่ห์ผ้าไหมไทย โดดเด่นที่ลวดลายนะครับ ลวดลายของผ้าไหมจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค และมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจมาก ถ้าคนที่ได้อ่านได้ศึกษาเรื่องผ้าไหมไทยจริงๆ จึงจะรู้ถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์ผ้าไทย เสน่ห์อยู่ที่การบอกเล่าบริบทต่างๆ ของแต่ละชุมชน ผ่านลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์มากๆ อย่างเช่น ลายพยานาค ทำไมต้องอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ลายขอ ลายดอกพิกุล ลายต่างๆ ที่น่าสนใจ ผมมองว่าคนรุ่นใหม่อาจใส่แบบดั้งเดิมยากนิดหนึ่ง

 

แรงบันดาลใจในการนำผ้าไทย มาออกแบบให้ทันสมัยขึ้น

ผมเอาโครงสร้างเรขาคณิต เข้ามาตัดต่อผ้าไหมใหม่ ซึ่งจะต่อเนื่องจากลายผ้าไทยเดิม เพราะเป็นลวดลาย สีสันแบบดั้งเดิมมากๆ คนรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกว่า ฉันอยากใส่เป็นเสื้อเชิ้ตตัวเดี่ยวก็ไม่ได้ เพราะสีมันไม่ได้ จะใส่กับเสื้อยืด หรือแมชท์กับเสื้อในตู้เสื้อผ้าก็ไม่ได้ สิ่งที่ผมทำคือผมพยายามทำลายโครงสร้างเก่า โดยการปรับนำเอารูปทรงเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม มาผสมผสานสร้างใหม่ โดยการตัดเย็บตัดต่อกับผ้าไหมลวดลายต่างๆ ที่เป็นทั้งผ้าไหมลาย และผ้าไหมสีพื้น และออกแบบสีให้ดึงดูดน่าสนใจ เช่น สีสด สีหม่นบ้าง สีพลาสเทลบ้าง เพื่อทำให้ใส่ง่ายขึ้น

จุดเด่นของคอลเลคชั่น ในการผสมผสานระหว่างผ้าไทย กับรูปทรงเรขาคณิต

ที่จริงจุดเด่นของผลงานนี้ คือ โครงสร้างของผ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นั่นเองครับ เพอร์เซ็ปชั่นของคนใช้ผ้าไหมแบบเดิมๆ ปกติเค้าจะไปหาซื้อผ้าไหมแบบพับ ประมาณ 2 หลา หรือ 2 เมตร ก็แล้วแต่ หรือไม่ก็ซื้อ 4 เมตร แบบผ้าพื้น 2 เมตร ผ้าลาย 2 เมตร แล้วนำมาตัดทั้งชุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่ผมทำในบริบทใหม่ก็คือ ผมผสมอย่างสนุกสนานเลย เอาลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้า มาตัดต่อกับผ้าสีพื้น หยิบสีสันที่ได้จากตัวผ้าไหมเองด้วย มันเป็นความรู้สึกบางอย่างเมื่อเวลาที่คุณเห็นคนสวมใส่ลายแบบผ้าขาวม้า แล้วมักจะถุกแซวว่าจะไปตัดอ้อยหรือไร มันเป็นแสลงที่น่าตลกนะ เวลาที่ใส่ผ้าขาวม้าปั๊บ แล้วถูกแซวแบบนั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโครงสร้างนี้ถูกทำลายทิ้ง โดยการแทรกสีแสนสนุกเข้าไป ผ้าขาวม้าก็จะใส่ทำงานได้ ใส่ขึ้นรถไฟฟ้าได้ด้วย แล้วมันจะสนุกขึ้นเมื่อใส่จริงในชีวิตประจำวัน

เชิญชวนคนรุ่นใหม่ใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน

จริงๆ แล้วผ้าไหมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีคู่สีใหม่ๆ ที่น่าตื่นใจมากขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็นผมและเพื่อนดีไซเนอร์ เมื่อได้ลงไปที่ชุมชน  เราเริ่มจับคู่สีใหม่ให้พวกเขา เมื่อก่อนเขาอาจจะใช้คู่สีในบริบทของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สีน้ำตาลจากมะขาม สีเขียวจากต้นไม้ สีหม่นที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไมผ้าไทยจึงดูแก่ขนาดนี้ ฉะนั้นเวลาที่ดีไซเนอร์ลงไป เราได้เริ่มเดเวลล็อปใหม่ จึงเริ่มที่ได้สีใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น สีพาสเทล สีฟ้าอ่อนๆ สีชมพู หรือ สีพาสเทลที่ผสมผสานกับสีเข้มๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้น คือเราได้สีที่มันอยู่ในแฟชั่นจริงๆ คุณสามารถที่จะนำไปใส่ได้กับยีนส์ สามารถแมชท์กับเสื้อเชิ้ตและชุดอื่นๆ ที่ต้องการ ผมมองว่าอยากให้คนรุ่นใหม่เปิดใจนิดนึงว่า การสวมใส่ผ้าไหมไทย ไม่จำเป็นต้องในโอกาสไปวัดกับคุณยาย แต่ให้คิดว่าผ้าไหมเป็นสมบัติล้ำค่า ภูมิปัญญาของคนไทยและสิ่งที่ยูนีคของประเทศ เหมือนคนญี่ปุ่น เค้าสวมใส่กิโมโนได้หลากหลายอิริยาบท และมีกิโมโนลวดลายที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ แม้แต่ลายกึ่งคิตตี้ ลายใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้นผมอยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ลองเปิดใจ ลองหยิบผ้าไหมไทยเลือกในสไตล์ที่ชอบขึ้นมาลองใส่สักชิ้นก่อน พอมันเวิร์กปั๊บ ก็ค่อยหยิบชิ้นต่อไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ควรมีส่วนส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของเอกลักษณ์ของเราต่อไปด้วยครับ

 

 

 

ชลธิช วรรณอุบล I บรรณาธิการดิจิทัล